xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ส่งนักอักษรตรวจสอบจารึก “พระเจ้าจิตรเสน” หลักใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมศิลป์ส่งผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบ “จารึกพระเจ้าจิตรเสน” หลักใหม่ จ.อุบลราชธานี พบทำด้วยหินทราย จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต คาดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 คล้ายจารึกปากน้ำมูล 1 และ 2

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ค้นพบจารึกพระเจ้าจิตรเสนหลักใหม่ ที่อยู่ในความครอบครองของ นายสัมฤทธิ์ ผาดี ราษฎรบ้านตุงลุง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และได้ประสานจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานปกครองในพื้นที่จนสามารถรับมอบและเคลื่อนย้ายจารึกหลักดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี จึงได้มอบหมายให้ นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ ลงพื้นที่ตรวจสอบและคัดลอกสำเนาจารึกหลักดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นมีความเห็นว่า จารึกพระเจ้าจิตรเสนหลักใหม่ ทำด้วยหินทราย กว้าง 64 เซนติเมตร หนา 36 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีเนื้อความคล้ายกับจารึกปากน้ำมูล 1 และจารึกปากน้ำมูล 2 ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี โดยกล่าวถึงประวัติพระเจ้าจิตรเสน และการสถาปนาศิวลึงค์เสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์เหนือดินแดนนั้น

พระเจ้ามเหนทรวรมัน (ผู้อยู่ในความพิทักษ์ของพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่) มีพระนามเดิมว่า จิตรเสน เป็นพระโอรสของพระเจ้าวีรวรมัน ครองราชย์ในราว พ.ศ.1143-1159 แห่งอาณาจักรเจนละ ในรัชสมัยของพระองค์พบหลักฐานที่เป็นจารึกแพร่หลาย โดยข้อมูลที่มีในปัจจุบันพบว่าจารึกที่พบในประเทศไทย จำนวน 15 หลัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 3 หลัก และราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 2 หลัก โดยเนื้อความในจารึกของพระองค์ได้กล่าวถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ตลอดจนการขยายอาณาจักรเจนละของพระองค์เอง การพบจารึกของพระองค์อย่างหนาแน่นและแพร่หลายในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันมากกว่าบริเวณอื่นๆ อาจเป็นภาพสะท้อนการให้ความสำคัญกับพื้นที่ในแถบนี้เป็นอย่างมาก จารึกของพระองค์บอกถึงเส้นทางการเดินทางที่ใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก คือ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี อันเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรเกลือและเหล็กอันมากมายมหาศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น