xs
xsm
sm
md
lg

26 มิถุนายน กับ 3 วันสำคัญของประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันที่ 26 มิถุนายน ตรงกับวันสำคัญของประเทศไทยถึง 3 วันด้วยกัน คือ 1.วันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 2.วันสุนทรภู่ กวีเอกของไทยและของโลก และ 3.วันต่อต้านยาเสพติดโลก

วันประสูติของ “สมเด็จพระสังฆราช”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2483 โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

วันที่ 26 มิ.ย.2561 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) จะทรงเจริญพระชันษา 91 ปี สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้กำหนดแนวทางการจัดงาน โดยวันที่ 26 มิ.ย.เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชูปถัมภ์ การบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษา 91 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ขณะที่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติเห็นชอบให้คณะสงฆ์กรุงเทพฯ เจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระกุศลและถวายพระพรแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 16.00 น. ที่พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ กรุงเทพฯ และให้วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักร ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระกุศล และถวายพระพรแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 16.00 น. ที่พระอุโบสถ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หรือสถานที่ที่เหมาะสมของแต่ละวัด

“วันสุนทรภู่” กวีเอกของโลก

พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่เรักกันทั่วไปว่า “สุนทรภู่” เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

ปี พ.ศ.2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่าน คือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่ คือ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป

ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง ด้านนิราศ เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา เป็นต้น บทเสภา เช่น ขุนช้างขุนแผน ส่วนนิทาน เช่น โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง

วันต่อต้านยาเสพติดโลก

วันต่อต้านยาเสพติดโลก ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ตามประกาศตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เป็นวันสำคัญสากล เพื่อต่อต้านการใช้ยาในทางผิด และค้ายาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยหมายความถึงยาเสพติด ยึดถือเป็นวันสำคัญประจำปีมาตั้งแต่การประกาศเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เหตุที่กำหนดวันที่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่การถอนสัมปทานการค้าฝิ่นโดยนายอำเภอ หลิน เจ๋อสวี ตำบลหู่เหมิน มณฑลกวางตุ้ง ก่อนสงครามฝิ่นครั้งแรก

สำหรับประเทศไทยจะมีการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปี หรือวันที่ใกล้เคียง รวมถึงมีการจัดงานรณรงค์เพื่อให้รู้เท่าทันและพิษภัยของยาเสพติดเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยเริ่มปรับเปลี่ยน โดยยึดเรื่องของ ผู้เสพเท่ากับผู้ป่วย คือ ให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ไม่เสียประวัติและไม่มีความผิด เพื่อลดจำนวนนักโทษคดียาเสพติดที่มีในเรือนจำจำนวนมหาศาล ยกเว้นกลุ่มผู้ค้าที่ยังต้องได้รับโทษ โดยแนวทางการบำบัด แนวทางหนึ่งคือเรื่องของ Halm Reduction เช่น การใช้สารทดแทนเพื่อลดการติดยาเสพติด เช่น ยาเมทาโดน ลดอาการติดฝิ่น เฮโรอีน หรือแนวคิดที่จะใช้แอมเฟตามีน นำมาใช้เป็นยาทดแทนการเสพติดเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า

นอกจากนี้ ยังมีการทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด อยู่ระหว่างการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะมีการปลดล็อก “กัญชา” ให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาจำนวนมากในเรื่องของประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ลดเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง ลมชัก พาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถขอกัญชาของกลางที่หมดอายุคดีความมาใช้ในการวิจัยได้ แต่ไม่สามารถนำมาทดลองในคนได้ เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตในการเสพ ซึ่งหากประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ผ่านและมีผลบังคับใช้ก็จะเป็นการปลดล็อกในเรื่องนี้ ส่งผลให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากกัญชาได้อย่างเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น