กรมวิทย์ เร่งพัฒนาวิธีตรวจ “เซลล์เพาะเลี้ยง” ในการผลิตวัคซีนมีคุณภาพและปลอดภัย หลังส่งบุคลากรเข้าอบรมที่จีน คาด ปี 62 สามารถให้บริการได้ ช่วยลดปัญหาส่งตรวจต่างประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายหลักสิบล้านบาท
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันวัคซีนที่ผลิตด้วยเซลล์เพาะเลี้ยงมีหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่ตรวจคุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยงได้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ผลิตและนักวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศต้องส่งเซลล์เพาะเลี้ยงไปทดสอบคุณลักษณะที่ต่างประเทศ เพื่อยืนยันว่าเซลล์เพาะเลี้ยงมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สามารถใช้ผลิตวัคซีนได้ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านบาท
นพ.สุขุม กล่าวว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศ จึงทำการส่งบุคลากรเข้าอบรมเทคนิคการตรวจวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง โดยเฉพาะเซลล์ (Vero Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้ในการผลิตวัคซีนได้หลายชนิด โดยเฉพาะวัคซีนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ประเทศไทยกำลังจะพัฒนาเป็นวัคซีนในอนาคต โดยร่วมมือกับหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐด้านวัคซีนของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีความเชี่ยวชาญในการอบรม และอยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งหลังจากได้รับการอบรมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน คาดว่าสามารถให้บริการได้ในปี 2562 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีน โดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย
“การตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง โดยหน่วยงานควบคุมคุณภาพภาครัฐของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมดูแลคุณภาพของเซลล์ที่จะนำมาใช้ในการผลิตวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงในประเทศไทย มีระบบควบคุมคุณภาพตั้งแต่การผลิตจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล สิ่งสำคัญคือจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งเซลล์ไปตรวจในต่างประเทศ เป็นการพึ่งพาตนเองในประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0” นพ.สุขุม กล่าว