xs
xsm
sm
md
lg

ชายชาวระยองเสียชีวิตจาก “โรคพิษสุนัขบ้า” แล้ว เป็นรายที่ 10

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชายชาวระยองเสียชีวิตแล้วจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่งผลผู้เสียชีวิตรวมเป็น 10 ราย ใน 10 จังหวัด อธิบดีกรมควบคุมโรคแจงผู้เสียชีวิตเพราะถูกกัดแล้วไม่ไปรับวัคซีน ย้ำวัคซีนในคนมีเพียงพอ

ความคืบหน้ากรณีชายอายุ 59 ปี ชาว จ.ระยอง ถูกสุนัขกัด แต่ไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ทำให้ติดเชื้อ โดยอยู่ระหว่างการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิดนั้น

วันนี้ (13 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชายผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ารายดังกล่าวได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยกรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การเสียชีวิตของโรคพิษสุนัขบ้าล่าสุดเป็น 10 ราย จาก 10 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร และระยอง ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์พบว่า จำนวนหัวสัตว์ที่ให้ผลบวกต่อเชื้อพิษสุนัขบ้ามีทั้งหมด 1,001 หัว จาก 50 จังหวัด แบ่งเป็น สุนัข 878 หัว วัว 72 หัว และ แมว 38 หัว ขณะที่พื้นที่เสี่ยงยังคงเป็นจังหวัดเดิมคือ ชลบุรี สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา ตาก และศรีสะเกษ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ชายอายุ 59 ปี ชาว จ.ระยอง ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตจากโรคนี้รวมแล้วเป็น 10 ราย จาก 10 จังหวัด โดยประวัติพบว่า มีการติดเชื้อจากการถูกสุนัขของตนเองที่เลี้ยงไว้กัดตั้งแต่ มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลจากการสอบสวนโรคของผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่ยังคงมีความประมาทและไม่ตระหนัก ทำให้ไม่ได้ไปรับวัคซีน ซึ่งตามปกติของการรับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ขณะนี้จะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจนครบจำนวนโดส ร่วมกับการสังเกตสุนัขและแมวที่กัด หากพบว่า สุนัขและแมวไม่เสียชีวิต ก็อาจพิจารณาหยุดฉีดยาได้ แต่กรณีที่ไม่สามารถกักสัตว์ไว้สังเกตอาการได้ ควรได้รับวัคซีนทันที นอกจากจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ยังได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การระบาดในสัตว์ ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้เร่งฉีดวัคซีนในสัตว์ให้ครบจำนวนสัตว์ที่มีกว่า 10 ล้านตัว ส่วนวัคซีนในคนยืนยันว่ามีเพียงพอ และได้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง บางจังหวัดมีมากถึง 1 แสนโดส และสามารถขอยืมข้ามจังหวัดได้ โดยในส่วนพื้นที่ที่ยังอาจมีความเสี่ยงระบาด ยังคงเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดเมื่อต้นปี 2561 และปี 2560 ได้แก่ ภาคตะวันออก, พื้นที่ปริมณฑล รอบ กทม. (ภาคกลางตอนล่าง), พื้นที่อีสานใต้ และภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา กระบี่ นครศรีธรรมราช


กำลังโหลดความคิดเห็น