ห่วงลักลอบทิ้ง “ขยะติดเชื้อ” นอกเส้นทาง ไม่มีกล้องวงจรปิด ทำตรวจสอบยาก หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชน ทำระบบควบคุมติดตามบันทึกผลขยะทางออนไลน์ หากพบบริษัทรับขนลอบทิ้ง ชงท้องถิ่นเพิกถอนใบอนุญาต กรมอนามัยจ่อหารือ สรพ.เข้มเกณฑ์คุณภาพสถานพยาบาลเรื่องกำจัดขยะ
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลกว่า 1.5 หมื่นตันต่อปี หรือ 28% ไปไม่ถึงเตาเผา ว่า จากระบบการบันทึกด้วยกระดาษและมีถึง 6 สำเนา ทำให้ตรวจสอบยาก ซึ่งยอมรับว่าส่วนหนึ่งการลำเลียงขยะมีปัญหาไม่สมบูรณ์ เพราะ รพ. จ่ายเงินบริษัทเก็บขนแล้ว แต่สุดท้ายบางส่วนไปไม่ถึง ซึ่ง รพ. ก็เสียใจกับเรื่องเช่นนี้ ขณะนี้จึงพยายามควบคุมบริษัทที่เก็บขน พยายามเชิญมาพูดคุย ส่วนบริษัทกำจัดไม่มีปัญหา ขยะไปถึงแค่ไหนเขาก็ทำลายแค่นั้น เพราะ รพ. ไม่ได้ทำสัญญาด้วย จึงได้ทำโปรแกรมบันทึกข้อมูลขยะออนไลน์ หรือ Manifest Online เพื่อควบคุมกำกับการขนส่งและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้ออย่างเป็นระบบตอนนี้ใช้ไปแล้วกว่า 80% คิดว่า เร็วๆ นี้ จะใช้ได้ครบ 100%
นพ.ดนัย กล่าวว่า การทำลายขยะติดเชื้อใน รพ. จะต้องใช้เทคโนโลยีการเผาในอุณหภูมิสูงที่สามารถทำลายได้ทั้งตัวขยะ เชื้อโรคจากขยะ และควันจากการเผาไหม้ขยะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น สารไดออกซิน เป็นต้น ปัจจุบันเท่าที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีเตาเผาเทคโนโลยีสูงเช่นนี้ไม่กี่แห่งทั่วประเทศ เช่น แหล่งใหญ่ใน กทม. อยู่ที่หนองแขมและอ่อนนุช ดำเนินการโดย กทม. ดูแลขยะที่เกิดขึ้นของสถานพยาบาลใน กทม. และบริษัทรับขนขยะก็เป็นบริษัทเดียวกับบริษัทกำจัด รวมถึงมีการทำบาร์โคดติดที่ถุงขยะทุกใบ จึงไม่มีปัญหา ส่วนต่างจังหวัดยังมีไม่กี่แห่ง เช่น อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ระยอง นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา ส่วนทางภาคใต้เดิมมีแถบๆ ปัตตานี นราธิวาส แต่หลังๆ มีปัญหาชำรุด อย่างไรก็ตาม บางส่วน รพ. จะเผาเอง แต่ก็แค่จำนวนน้อย สำหรับบริษัทรับเก็บ ขนขยะปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7 - 8 แห่ง
นพ.ดนัย กล่าวว่า ตอนนี้กำลังสำรวจความสามารถในการกำจัดขยะว่าเพียงพอต่อปริมาณขยะติดเชื้อใน รพ.ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทำโปรแกรมบันทึกข้อมูลขยะออนไลน์ อนาคตเมื่อเห็นจุดอ่อนแล้วคงมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ภายใต้ประกาศกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข เพื่อกำกับการดูแลการกำจัดขยะติดเชื้อใน รพ.ต่อไป และจะหารือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) เรื่องการเข้มงวดหลักเกณฑ์ประเมินคุณภาพสถานพยาบาลจากนี้ต้องมีระบบการตรวจสอบบริษัทเก็บขนขยะ และบริษัทกำจัดขยะอย่างเข้มข้นด้วย ส่วนบริษัทรับกำจัดก็มีกลไกพูดคุยกันอยู่แล้ว ซึ่งจากนี้จะขอให้ช่วยตรวจสอบบริษัทเก็บขนด้วย
“ขยะติดเชื้อแตกต่างจากขยะประเภทอื่นๆ แม้แต่พวกสิ่งปฏิกูลเองที่เราเคยได้ยินว่ามีการเอาสิ่งปฏิกูลไปทิ้งตามพื้นที่ต่างๆ นั้น จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมส่วนอื่นๆ แต่ก็ถือว่าไม่รุนแรงเหมือนขยะติดเชื้อซึ่งมีความเสี่ยงสูงด้วยความที่เราไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคอะไรอยู่บ้างในแต่ละ รพ. ถ้ากระจายในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะข้างทาง หรือเอาไปกลบฝังก็ตามเมื่อไม่ถูกสุขลักษณะจะมีปัญหากับสิ่งแวดล้อม หรือร้ายแรงอาจจมีเรื่องของโรคระบาดได้ โชคดีที่ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขอย้ำให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาอีกครั้ง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
เมื่อถามว่าจากการตรวจสอบที่ผ่านมามีบริษัทใดที่ลอบเอาขยะจาก รพ. ไปสิ่งข้างถนน และดำเนินการเอาผิดอย่างไร นพ.ดนัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราก็ไม่รู้ รู้อีกทีเจอกองขยะแล้ว ซึ่งเป็นการลอบเอาไปทิ้งนอกเส้นทางซึ่งไม่มีกล้องวงจรปิด แล้วเราตรวจสอบยากเพราะอย่างที่บอกว่าข้อมูลขยะยังมีหลายสำเนาทำให้ตรวจสอบได้ยาก ถึงได้พยายามทำระบบตรวจสอบให้สมบูรณ์ แต่หากพบความผิดซึ่งหน้าตรงนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดูแล โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข ข้อบัญญัติของท้องถิ่นแล้วเอาตรงนั้นมาลงโทษ เช่น หากเป็นบริษัทเก็บขนที่มีการขออนุญาตก็จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งตอนนี้ปัญหาลอบทิ้งขยะติดเชื้อจาก รพ. ตอนนี้ดีขึ้นเพราะท้องถิ่นเองเขาเข้มงวด แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ไดดำเนินการ จึงอยากวอนขอให้ท้องถิ่นช่วยเร่งออกข้อบัญญัติของตัวเองให้ครบคลุมทั้งประเทศด้วย เพราะยังมีท้องถิ่นจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ดำเนินการ