xs
xsm
sm
md
lg

TCAS แค่สะท้อนปัญหา จี้ ศธ.คุมหลักสูตรฟุ้งเฟ้อ-ยกเลิกรับตรง หลังเกิดดรามาที่นั่งว่างเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อ.วีรชัย” ชี้ TCAS ไม่ใช่ปัญหาเดียวของระบบเข้ามหาวิทยาลัย จี้ ศธ. ปฏิรูปทั้งระบบ คุมหลักสูตรฟุ้งเฟ้อ ลดปัญหาที่นั่งมาก แย่งชิงตัวเด็ก มั่นใจ TCAS 5 รอบ ที่นั่งก็ยังว่าง เห็นด้วยยกเลิกการ “รับตรง” ใช้ระบบสอบร่วมกันแบบเก่า เชื่อรับตรงเพราะต้องการหารายได้มากกว่าตัวเด็ก

จากปัญหาระบบ TCAS รอบ 3 หรือรอบรับตรงร่วมกัน ทำให้เกิดการกันที่นั่งจำนวนมากโดยนักเรียนที่มีคะแนนสูง และเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้นหลังจากที่มีการยืนยันสิทธิ์รอบ 3/1 ซึ่งพบว่าแต่ละสาขาวิชาของแต่ละมหาวิทยาลัยเกิดที่นั่งว่างจำนวนมาก บางสาขาไม่มีคนยืนยันสิทธิ์เลย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งนักเรียนที่อยากเข้าแต่เข้าไม่ได้ และมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เด็กตามที่ต้องการ จนเกิดคำถามตามมาว่า สมควรที่จะยกเลิกระบบรับตรงร่วมกันนี้หรือไม่

วันนี้ (7 มิ.ย.) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประเด็นการรับตรงของสถาบันอุดมศึกษา เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้เกิดการแข่งขันในการเลี้ยงดูตนเอง เนื่องจากรัฐจะให้งบประมาณแค่บางส่วน ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้คือการเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ จากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีที่นั่งเหลือเป็นหลักหมื่น ปี 2560 มีที่นั่งว่างเหลือ 30,000 ที่ เมื่อเกิดการแก่งแย่งเด็กแบบนี้ จึงเกิดการรีบรับสอบตรงก่อนเพื่อที่จะกั๊กเด็กไว้ ซึ่งตรงนี้สะท้อนถึงการคำนึงถึงรายได้เป็นหลัก มากกว่าเรื่องการศึกษา

“ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแต่ละที่จะรีบเปิดรับก่อน พอเด็กปิดเทอมก็มีโปรโมชัน ซึ่งอนาคตอาจต้องไปเคาะประตูบ้านเพื่อเรียกเด็กมาเรียนก็ได้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ไม่ควบคุมการขยายการเปิดหลักสูตร ปล่อยให้เปิดอย่างอิสระ ไม่มีการคุมประเภทของมหาวิทยาลัย เช่น บางแห่งเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะด้านก็มาเปิดนิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เพราะหาเงินง่าย ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรมาก หรือมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่ ก็มาเปิดหลักสูตรแข่งกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งบางแห่งกำลังทำ ซึ่งพบว่าเมื่อปริมาณเยอะ คุณภาพก็ลดลง เรียกว่าตอนนี้มั่วและฟุ้งเฟ้อไปหมด และเมื่อปริมาณเยอะเด็กก็เล่นตัว มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดสอบหลายๆ รอบ อย่าง TCAS เอง ก็เปิด 5 รอบ เพราะว่ารอบแรกก็ไม่เต็ม รอบ 2 ก็ไม่เต็ม รอบ 3 ก็ไม่เต็ม จนกระทั่งรอบ 5 ก็เชื่อว่าอาจจะไม่เต็ม” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในขณะนี้ ตนไม่ได้มองว่าเกิดจาก TCAS เพียงอย่างเดียว เพียงแต่ TCAS วันนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็น เพราะคนที่ประท้วง TCAS ก็ไม่ใช่คนที่สอบไม่ได้ แต่เป็นพวกที่สอบได้แต่ไม่ได้ในคณะที่ตนเองต้องการ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า TCAS ช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายผู้ปกครองได้ แต่ก็ยังต้องพัฒนาระบบต่อ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือรัฐบาลเองต้องอาศัยโอกาสนี้ที่มองเห็นปัญหาแล้วแก้ปัญหาให้ได้ ถึงจะเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง ซึ่งตนมองว่าต้องปรับแก้ทั้งระบบ ทั้งเรื่องของหลักสูตรที่ฟุ้งเฟ้อจะต้องมีการกำจัดหรือลดหลักสูตรลง ซึ่งอยากรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยลดหลักสูตรที่ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ และ ศธ. ต้องไม่ให้อิสระในการเปิดหลักสูตรมากจนเกินไป ขณะที่วิธีการรับเด็กก็ต้องมาปรับใหม่ โดยอาจขอความร่วมมือหรือออกเป็นกฎไม่ให้มีการรับตรง แต่ใช้ระบบเหมือนสอบสมัยก่อนก็จบ เลือกเรียงลำดับตามคะแนน ก็จะได้ตามศักยภาพของเด็กที่เข้าไป และเมื่อสาขาไหนที่ไม่มีคนเรียนก็จะปิดอัตโนมัติ

“ระบบ TCAS ปีนี้สปอยเด็กมากเกินไป จะทำให้ได้พลเมืองที่ไม่ยอมรับกติกา เพราะเมื่อสอบติดแล้วก็สละสิทธิ์ สอบติดแล้วก็ไม่เอา กั๊กที่คนอื่นกันไปเรื่อยๆ ไม่ได้ที่ต้องการก็ประท้วง พอเปิดรอบ 3/2 ให้ เมื่อสอบติดก็สละสิทธิ์อีก เพราะไม่ได้ที่ต้องการ ทางพ่อแม่ก็กดดันเด็กเยอะ เวลาเรียนไป จบเป็นบัณฑิตออกมาสู่สังคมก็จะเกิดการผลิตรูปแบบเดิมๆ คือ ไม่ได้อะไรก็ประท้วง ไม่เคารพกติกาไม่จบไม่สิ้น จะเป็นพลเมืองในระบบนี้” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

เมื่อถามว่า การที่มหาวิทยาลัยขอรับตรง เพราะจะได้เด็กตามเกณฑ์ที่ต้องการจริงๆ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแค่ข้ออ้าง ทำไมไม่รับพร้อมกัน อย่างสมัยก่อนเมื่อเด็กสอบติดแล้วกลัวสละสิทธิ์ก็บังคับจ่ายค่าเทอมก่อนเลย เพราะกลัวไปสมัครที่อื่น ถ้าอุดมการณ์จริง มีเจตนาดีจริง ก็ไม่ควรเก็บเงินก่อนที่เด็กจะรายงานตัว ซึ่งทุกแห่งทำเหมือนกันหมด แย่งเงินกัน ไม่ได้แย่งเด็ก ไม่ใชบริการการศึกษา กลายเป็นธุรกิจแบบเต็มๆ ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น