นักโภชนาการ ชี้ “คุณภาพอาหาร” ร.ร. ดีขึ้น แต่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์ ย้ำต้องมีผักทุกมื้อ ไข่สัปดาห์ละ 2 ฟอง ตับ - เลือดสัตว์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผลไม้ 3 วันต่อสัปดาห์ ขนมต้องหวานน้อย ชี้ปัญหาเพราะขาดนักโภชนาการประจำ ร.ร. เล็งทำนักโภชนาการ ร.ร.ตำบลละ 1 คน แนะแม่ครัวควรผ่านการอบรมโภชนาการหรือมีใบรับรอง
ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลสำรวจคุณภาพอาหารกลางวันในโรงเรียน ว่า จากการสำรวจพบว่าคุณภาพอาหารดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่ถือว่าดีนัก คุณภาพยังไม่ได้ตามเกณฑ์โภชนาการที่ควรได้รับ คือ มีผักทุกมื้อ มีไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง มีตับหรือเลือดสัตว์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วให้จัดผลไม้เป็นอาหารว่างอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ที่เหลือเป็นขนมที่หวานน้อย ซึ่งจากที่นักวิชาการคำนวณงบที่ท้องถิ่นจัดให้ 20 บาทต่อหัวต่อวัน ถือว่าเพียงพอที่จะทำอาหารคุณภาพได้ แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ อีกทั้งส่วนหนึ่งคือการไม่มีนักโภชนาการในโรงเรียนคอยดูแล หรือการไม่มีแม่ครัวที่มีความรู้เรื่องโภชนาการเพียงพอ
ดร.สง่า กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้อาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นต้นแบบการทำอาหารที่มีคุณภาพให้ผู้ปกครองนำกลับไปทำให้ลูกหลานกินที่บ้านได้ ตอนนี้จึงกำลังขับเคลื่อนให้มีนักโภชนาการในโรงเรียน อย่างน้อยตำบลละ 1 คน แม้จะถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับญี่ปุ่นที่ทำเรื่องนี้มานานมีนักโภชนาการประจำโรงเรียนแห่งละคน แต่ก็ไม่เป็นไร มีดีกว่าไม่มี ส่วนแม่ครัวที่มาปรุงอาหารในโรงเรียนต่อไปนี้ต้องเป็นคนที่ผ่านการอบรมความรู้เรื่องโภชนาการ และมีใบรับรองจากกรมอนามัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
“ระหว่างนี้มีการพัฒนาใช้โปรแกรม Thai School Lunch ซึ่งเป็นโปรแกรมคำนวณเมนูอาหารกลางวันที่มีคุณภาพสำหรับเด็กในแต่ละพื้นที่ วิธีการคือแต่ละโรงเรียนที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะต้องป้อนข้อมูลของเด็กทุกคนเข้าไป เช่น เป็นชายกี่คน หญิงกี่คน อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง เป็นต้น แล้วโปรแกรมจะคำนวณเมนูอาหารกลางวันที่เหมาะสมออกมาให้ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระยะเวลา 1 เดือน โรงเรียนก็เพียงแค่เอาเมนูนั้นไปทำให้เด็กกิน เด็กกินไปแล้วจะได้คุณค่าทางโภชนาการ วิตามิน โปรตีนไม่ขาด ตอนนี้กำลังอบรมเรื่องนี้ทั้งประเทศ” ดร.สง่า กล่าว