xs
xsm
sm
md
lg

ราชภัฏยกเลิกแต่งดำ หลังคลังชะลอระเบียบ “ลูกจ้าง” ย้ำมีสภาฯ กำหนดกำลังคน-การจ่ายเงิน ไม่ควรเสนอคลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราชภัฏทั่วประเทศยกเลิกนัดแต่งดำค้านระเบียบคลังปม “ลูกจ้าง” หลัง ก.คลัง ชะลอบังคับใช้ เผย สกอ. เป็นตัวแทนหารือแก้ไขระเบียบ ย้ำ การจ้างลูกจ้างไม่ควรขอคลังและใช้อัตราจ่ายเงินตามคลัง เหตุมีสภามหาวิทยาลัยกำหนดกรอบอัตราจ้าง และการจ่ายเงินตามกฎหมาย เล็งเสนอออกระเบียบแบบ สธ. ย้ำ หากใช้อัตราจ้างตามคลัง เชิญอาจารย์เชี่ยวชาญมาสอนตามข้อกำหนดหลักสูตรไม่ได้

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.ราชภัฏ) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังประกาศชะลอการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่า เดิม ทปอ. ราชภัฏมีการหารือกันว่า จะมีการแต่งชุดดำเพื่อคัดค้านระเบียบดังกล่าว เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องของการจ้างลูกจ้าง ทำให้ไม่สามารถเดินหน้างานต่อไปได้ ซึ่งราชภัฏมีการจ้างลูกจ้างจำนวนมาก โดยราชภัฏทั้งหมด 38 แห่งทั่วประเทศ จะมีลูกจ้างได้รับกระทบตรงนี้ประมาณเกือบ 20,000 กว่าคน ซึ่งแห่งหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 300 - 400 คน แต่หลังจากมีการประกาศชะลอระเบียบดังกล่าวก็คงยกเลิกการแต่งชุดดำคัดค้านทั้งหมด

“การจ้างลูกจ้างในราชภัฏถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะพันธกิจของราชภัฏเองจะเป็นลักษณะของการออกนอกระบบราชการ ยกตัวอย่าง เรามีการทำงานวิจัยขึ้นมาใหม่ ก็ต้องจ้างลูกจ้างใหม่ เพราะงบประมาณที่กระทรวงการคลังหรือสำนักงบประมาณจัดให้นั้น มีประมาณครึ่งหนึ่งของบุคลากรปัจจุบันเท่านั้น อีกทั้งมีอาจารย์บางกลุ่มที่เราต้องเชิญหรือจ้างมา เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ตามที่ระบุไว้ว่าหลักสูตรจะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมา ซึ่งถ้าเงินเดือนต้องเป็นขั้นต่ำของระดับปริญญาก็เป็นเรื่องยากที่จะทำได้” ผศ.ดร.เรืองเดช กล่าว

ผศ.ดร.เรืองเดช กล่าวว่า ส่วนที่กระทรวงการคลังจะเชิญทุกกระทรวงที่มีการจ้างลูกจ้างเข้าไปหารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบนั้น ทางราชภัฏจะมีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นตัวแทนเข้าไปปรึกษาหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทางราชภัฏไม่ได้จะปฏิเสธกลไก หรือระเบียบของกระทรวงการคลัง แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใสและส่งเสริมการทำงานของราชภัฏ ทั้งนี้ มองว่าการจ้างลูกจ้างของราชภัฏนั้นไม่ควรไปผูกกับอัตราค่าจ้าง หรือต้องขอจากทางกระทรวงการคลัง เพราะตามปกติแล้วการจ้างบุคลากรของราชภัฏนั้น ไม่ได้จ้างตามอำเภอใจของอธิการบดี แต่มีสภามหาวิทยาลัยกำกับตามที่ พ.ร.บ. ราชภัฏแต่ละแห่งระบุไว้ว่า ให้สภาฯ เป็นผู้กำหนดกรอบอัตรากำลังและวิธีการจ่ายเงิน ซึ่งมีระเบียบอยู่แล้ว แต่ถ้ามีความจำเป็นนอกเหนือจากที่กำหนดก็ต้องขอทำความตกลงกับสภาฯ หรือเสนอสภาฯ เห็นชอบ ซึ่งในส่วนของอุดมศึกษาควรมีการหารือกันและทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังแบบของกระทรวงสาธารณสุข

“มหาวิทยาลัยราชภัฏจะมีการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งสัญญาระยะยาวจนเกษียณหรือสัญญาทุก 4 ปี ซึ่งจะจ่ายเงินเดือนมากกว่าราชการ กลุ่มนี้ใช้ทั้งงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ เพราะงบแผ่นดินไม่เพียงพอ เนื่องจากหลักสูตรมีมาก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการจ้างแบบปีต่อปี แต่จ้างมานาน 20 - 30 ปี เงินเดือนอาจต้องมีโบนัส ปรับตามสถานะเศรษฐกิจขึ้นมา การจะย้อนกลับไปแบบเดิมหรือผูกกับอัตราการจ้างของกระทรวงการคลังนั้นเป็นไปไม่ได้” ผศ.ดร.เรืองเดช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น