เอ็นจีโอยื่น สธ. เอาผิดบริษัทเบียร์รายใหญ่ โฆษณาเห็นขวดเบียร์ พร้อมถ้อยคำเชิญชวนชัดเจนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสงสัยเพจโฆษณาเป็นร่างจำแลงของบริษัทหรือไม่ พร้อมขอปรับปรุงกฎหมายเอาผิดทางออนไลน์ และ ดีลิเวอรี
วันนี้ (24 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา นำโดย นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้มีการพิจารณาเอาผิดบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ ซึ่งโฆษณาเบียร์ที่เพิ่งมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เข้าข่ายผิดเรื่องการโฆษณาตามมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัด สธ. เป็นผู้รับมอบหนังสือ
นายคำรณ กล่าวว่า ขณะนี้มีการหันมาใช้ช่องทางสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามโฆษณาทางโทรทัศน์ ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัทเบียร์รายใหญ่ได้จัดทำโฆษณาเบียร์ที่เห็นทั้งขวด ทั้งยี่ห้อ มีการแจกของพรีเมียม ของรางวัลต่างๆ และเผยแพร่ทางเพจ “ขี้เมาล่าเรื่อง” ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 3 แสนคน นอกจากนี้ ยังเผยแพร่ในเพจ “แดกเหล้า เมาเบียร์ เพลียไวน์” มีผู้ติดตาม 1.8 แสนคน โดยพบว่าหลังมีการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวมีคนกดถูกใจ และแชร์ข้อมูลต่อจำนวนมาก จากพฤติการณ์นี้ทางเครือข่ายฯ มองว่า เป็นทำผิดมาตรา 32 เรื่อง การโฆษณาอย่างชัดเจน และผิดมาตรา 30 (5) เรื่องการส่งเสริมการขายด้วย จึงขอเรียกร้องให้ สธ. เร่งพิจารณาเอาผิดบริษัทเบียร์ดังกล่าว และขอให้แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบว่าการกดแชร์ กดถูกใจ อาจจะเข้าข่ายโฆษณาด้วย และปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมการโฆษณา การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ด้วย
“จะเห็นว่าที่ผ่านมาขนาดกลุ่มศิลปินดาราคาที่เคยโพสต์ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในอินสตาแกรมส่วนตัวยังมีความผิด ส่วนอันใหม่นี้ยิ่งกว่า เพราะเป็นรูปแบบของการโฆษณาอย่างชัดเจน มีการโชว์ขวด โชว์ถ้อยคำเชิญชวนชัดเจน ซึ่งกฎหมายบอกว่าแบบนี้ทำไม่ได้ แต่เขาเลี่ยงโดยเปลี่ยนจากการโฆษณาทางทีวีมาเป็นการโฆษณาทางออนไลน์แทน และที่จริงน่าจะถือว่าผิด พ.ร.บ .ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ด้วย เพราะเอาข้อมูลที่ผิดกฎหมายมาโฆษณาต่อ แล้วเพจที่เอามาลงก็คิดว่าน่าจะเป็นเพจของบริษัทเองหรือไม่ เพราะพบว่ามีลิงค์เชื่อมโยงเข้าไปที่เว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง ดังนั้นขอให้แก้กฎหมายคุมทั้งการโฆษณาออนไลน์ และการขายแบบดีลิเวอรี” นายคำรณ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ตนจะรับเรื่องนี้เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ทั้งเรื่องการโฆษณา การปรับปรุงกฎหมาย ก็มีคณะกรรมการพิจารณาอยู่ รวมถึงกรณีประชาชนกดถูกใจกดแชร์ อาจจะเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ต้องดูเจตนา แต่ก็อยากจะเตือนประชาชนว่าหากไม่มั่นใจข้อมูลที่อยู่ในโซเชียล โดยเฉพาะอะไรที่เป็นคุณเป็นโทษต่อสังคมก็ไม่ควรแชร์ต่อ