กศน. เจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ติวการค้าออนไลน์ฉบับชาวบ้าน เตรียมเปิดศูนย์ขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย กศน. ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ กศน. เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนในการสร้างช่องทางการขายสินค้าและเพิ่มรายได้ในชีวิตประจำวันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและชุมชน ในฐานะที่กำกับดูแล กศน. ตนจึงได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่านไปยังเลขาธิการ กศน. โดยให้ กศน. ทั่วประเทศ ช่วยเหลือประชาชนในการทำการค้าออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Line Facebook Instagram รวมถึงช่องทางการค้าขายผ่านเว็บไซต์ e-Commerce หรือ e-Market ต่างๆ โดยในระยะแรกเป็นการขยายผลจากกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมหลักสูตร e-Commerce จากศูนย์ดิจิทัลชุมชมของ กศน. เมื่อปี 2559 - 2561 ที่ผ่านมา จำนวนประมาณ 109,000 คน โดยให้ผู้ที่ผ่านการอบรม 1 คน ไปขยายผลต่อให้ประชาชน 3 คน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 จะมีประชาชนที่ได้รับการขยายผลและสามารถขายสินค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ กว่า 3 แสนคน ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการมีเงินหมุนเวียนในระบบได้ถึง 3 พันล้านบาท
สำหรับการดำเนินการเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้ กศน. เปิดพื้นที่ของ กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (ONIE Online Commerce Center - OOCC) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับประชาชนในการแสดงสินค้า ประชาสัมพันธ์ วางจำหน่ายหรือสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ตลอดจนให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย
นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า สำนักงาน กศน.มีต้นทุนเดิมที่ดีมากอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดได้ทันทีกล่าวคือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่รวบรวมภายใต้ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนของ กศน.ประกอบกับที่ กศน.ได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ตามหลักสูตร Digital Literacy แก่ ครู ก. ครู ข. ครู ค. ใน 2 ปีที่ผ่านมา และมีการขยายผลสู่ประชาชนผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับ 1 ในภารกิจสำคัญตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในเรื่องของการรู้เท่าทันเทคโนโลยีอีกด้วย ทั้งนี้ ในการดำเนินงานตามนโยบายเบื้องต้นเราจะต้องให้นิยามคำว่า “ผู้มีรายได้น้อย” ที่ตรงกันเพื่อทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนก่อน โดยการสำรวจกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด จากนั้นจะได้จัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับการขายและการตลาดแบบง่าย เพื่อให้ครู กศน. นำไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร โดยให้เป็นชุดความรู้ที่เข้าใจง่าย และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติเองได้ เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับ e-Commerce พร้อมทั้งจัดทีมครู กศน.เป็นชุดประสานงานในระดับพื้นที่กับกระทรวงอื่น/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการช่วยเหลือต่อไป และประสานหน่วยงานอื่นในทุกระบบเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน มุ่งเน้นการทำงานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เชื่อว่า แนวทางนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน การพัฒนาชุมชน ตลอดจนส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย