xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธี” ตั้ง คกก.ปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอธี” ลงนามแต่งตั้ง คกก.ปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้ง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธานกรรมการ เล็งศึกษาการจัดการสอนพระพุทธศษสนาให้เหมาะสมกับปัจจุบัน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ 839/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยระบุว่า ด้วยกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจะดำเนินการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม อันจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนอย่างยั่งยืน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมคุณธรรม จริยธรรม

ดังนั้น เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม กระทรวงศึกษาธิการจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวน 13 คน คือ 1. ศ.กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เป็นประธานกรรมการ

2. พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มจร. เป็นรองประธานกรรมการ 3. นางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรองประธานกรรมการ

4. ผศ.บรรจบ บรรณรุจิ 5. น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธุ์ 6. นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ 7. นายพีระ รัตนวิจิตร 8. นายศรีชัย พรประชาธรรม 9. นายจงภพ ชูประทีป 10. นายอโณทัย ไทยวรรณศรี  11. นายพิเชฏษ์ จับจิตต์ 12. น.ส.รัตนา แสงบัวเผื่อน และ 13. น.ส.ประภาพรรณ แม้นสมุทร เป็นกรรมการ

โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยแนวทางการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

2. กำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การดำเนินการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน

3. ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน

4. ส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการทำงานเชิงบูรณาการด้วยวิธีการที่หลากหลาย

5. กำหนดแนวทางการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานตามความจำเป็นและเหมาะสม

7. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย

โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และจะมีการประชุมคณะกรรมการครั้งแรกภายในต้นเดือนมิถุนายน 2561




กำลังโหลดความคิดเห็น