xs
xsm
sm
md
lg

ชาเขียว “สูตรหวานน้อย” ไม่ช่วยอะไร “น้ำตาล” ยังพุ่งปรี๊ด 12 ช้อน ยิ่งชิงโชคยิ่งดื่มหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย ชี้ “ชาเขียว - น้ำอัดลม” โหมชิงโชค กระตุ้นการซื้อดื่ม ยิ่งสูตรหวานน้อย ยิ่งดื่มคล่อง เหตุรู้สึกดีต่อสุขภาพ ห่วง “ชาเขียว” สูตรหวานน้อย ก็ยังได้ “น้ำตาล” สูง 10 - 12 ช้อนชา เกินปริมาณที่ควรรับ เหตุน้ำตาลมากกว่า 10% ทั้งสิ้น แนะเครื่องดื่มไม่ควรใส่น้ำตาลเกิน 6%

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีการทำการตลาดชิงโชคของน้ำอัดลมและชาเขียว ว่า ขณะนี้ทางกรมอนามัยและเครือข่ายฯ พยายามอย่างมากในหลายมาตรการ เพื่อให้คนไทยลดการกินหวาน ซึ่งเป้าหมายคือไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากปัจจุบันคนไทยได้รับน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 26 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าที่แนะนำไปถึง 4 เท่า โดยพบว่า 2 ใน 3 ของการรับน้ำตาลมาจากเครื่องดื่ม ประเภทน้ำหวานต่างๆ

“ยกตัวอย่าง “ชาเขียว” ถือว่ามีน้ำตาลมาก ซึ่งขวดมาตรฐาน คือ ขนาด 500 มิลลิลิตร พบว่า บางยี่ห้อใส่น้ำตาล 20% บางยี่ห้อใส่ถึง 26% หากคิดจากปริมาณน้ำตาล 20% ของขวด 500 มิลลิลิตร เท่ากับมีน้ำตาลประมาณ 100 กรัม หรือ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าที่แนะนำต่อวันไปมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบังคับใช้ภาษีน้ำตาล ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับสูตรน้ำตาลลดลง แต่ก็พบว่ายังคงเกินกว่า 10% ทั้งสิ้น เช่น สูตรน้ำตาล 10% 15 % เพราะคนไทยยังติดความหวาน ไม่ใช่แค่ติดความเย็น ซึ่งแม้น้ำตาลจะเหลือเพียง 10% จากปริมาณ 500 มิลลิลิตร ก็ยังได้รับน้ำตาลเกินอยู่ดีคือประมาณ 50 กรัมหรือ 10-12 ช้อนชา” ทพญ.ปิยะดา กล่าว

ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่แนะนำ คือ 200 - 250 มิลลิลิตร นับเป็น 1 หน่วยบริโภค ซึ่งหากใส่น้ำตาล 10% ก็จะได้รับน้ำตาลประมาณ 5 ช้อนชา ถือว่าปริ่มๆ กับคำแนะนำ ถึงแนะนำว่าเครื่องดื่มพวกนี้ไม่ควรมีน้ำตาลเกิน 6% ซึ่งจะได้รับน้ำตาลประมาณ 12 กรัม หรือ 3 ช้อนชา บริโภคได้ไม่เกิน 2 หน่วยบริโภคต่อวัน ซึ่งที่น่าดีใจ คือ หลายรายก็มีการออกสูตรไม่เติมน้ำตาลมาขายด้วย แต่จะขายดีหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ แต่คนรักสุขภาพน่าจะซื้อสูตรไม่ใส่น้ำตาลมากขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า ส่วนการส่งเสริมการตลาดด้วยการชิงโชค ถือเป็นการกระตุ้นให้คนอยากชิงโชคมากขึ้น มีการซื้อมากขึ้น และตามธรรมชาติของคนแล้ว เมื่อซื้อของพวกนี้มามาก ก็คงไม่มีใครเททิ้ง ก็ต้องดื่มมากยิ่งขึ้น เป้าหมายในการลดการกินหวานจึงเป็นไปได้ยากขึ้น แม้จะทำสูตรน้ำตาลน้อย แต่เมื่อกระตุ้นให้กินมากขึ้นก็ได้รับน้ำตาลเกินอยู่ดี ต่อให้ทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นสูตรน้ำตาล 6% แต่แค่บริโภคไปขวดหนึ่ง 500 มิลลิลิตร ก็เท่ากับ 2 หน่วยบริโภคเต็มจำนวนน้ำตาลที่ควรได้รับต่อวันไปแล้ว และการกระตุ้นให้ชิงโชคก็เท่ากับต้องซื้อดื่มมากยิ่งขึ้น ก็ได้รับน้ำตาลเกินอยู่ดี ที่สำคัญคือ พอเป็นสูตรน้ำตาลน้อย รสชาติหวานน้อยลง คนก็จะรู้สึกว่าดีต่อสุขภาพมากขึ้น ก็กินเรื่อยๆ เลย ขณะที่ผู้ประกอบการเองเสียภาษีน้อย แต่ได้กำไรจากการขายเพิ่มขึ้น

“การโหมมาชิงโชคแบบนี้ของเครื่องดื่มพวกชาเขียว น้ำอัดลม ถือว่าเป็นผลกระทบจากมาตรการภาษีน้ำตาลที่ไม่ได้ผล ซึ่งตนเห็นด้วยหากจะมีการออกกฎหมายมาควบคุมการชิงโชคของเครื่องดื่มพวกชาเขียว น้ำอัดลม ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งผลดีต่อเรื่องสุขภาพ เพราะไม่กระตุ้นให้เกิดการดื่มมากขึ้น แต่ยังเป็นเรื่องของความเสมอภาคทางการค้าด้วย เนื่องจากบริษัทที่สามารถทำการเสี่ยงโชคได้ ต้องมีทุนเยอะ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ยิ่งกระตุ้นการขายได้ก็ยิ่งเป็นเจ้าใหญ่ แต่บริษัทเล็กๆ ที่ส่วนแบ่งทางการตลาดไม่สูง โอกาสแข่งน้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งแย่ลงเพราะเสี่ยงโชคสู้เขาไม่ได้ ถ้าคุมเรื่องการเสี่ยงโชค โดยเฉพาะภาษีเรื่องของรางวัล ก็คงช่วยการแข่งขันทางการตลาดยุติธรรมขึ้น” ทพญ.ปิยะดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น