xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเพิ่มสิทธิ “หญิงท้อง” ฉีดวัคซีนป้องกัน “ไอกรน” เหตุภูมิคุ้มกันน้อย จนถ่ายไปไม่ถึงลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.แนะหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกัน “ไอกรน” หวังเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทารกหลังคลอด ชี้ผู้ใหญ่ยุคใหม่ติดเชื้อไอกรนตามธรรมชาติน้อย จนส่งภูมิคุ้มกันไปยังลูกไม่ได้ เพิ่มความเสี่ยงอันตรายในเด็กปัจจุบันมากขึ้น คกก.บัญชียาหลักฯ เล็งหารือเพิ่มเป็นชุดสิทธิประโยชน์

พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคไอกรนเป็นอันตรายอย่างมากในเด็กเล็ก ที่ผ่านมาเด็กแรกเกิดจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ เพราะคนในยุคก่อนมีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจากธรรมชาติ ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่สามารถส่งต่อให้กับลูกในครรภ์ได้ พอคลอดแล้วเด็กที่เกิดมาก็มีภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง จะช่วยปกป้องทารกไปได้ประมาณ 6 เดือน ประจวบเหมาะกับการให้วัคซีนป้องกัน ซึ่งเข็มแรกจะเริ่มที่อายุ 2 เดือน เข็มต่อไปจะให้ที่อายุ 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่งและ 4 ขวบ ก็พอดีกับที่ได้รับวัคซีนเลยมีภูมิคุ้มกันโรค แต่ปัญหาคือ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเริ่มพบสัญญาณโรคไอกรนที่เป็นอันตรายกับเด็กเล็กเพิ่มขึ้น มีเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนเสียชีวิตจากโรคนี้ โดยปี 2561 เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ที่นครศรีธรรมราช และอุตรดิตถ์

“พอคลอดแล้วเด็กที่เกิดมาก็มีภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง ประจวบเหมาะกับที่ได้รับวัคซีนป้องกันเพิ่มทำให้ไม่มีการติดเชื้อซ้ำๆ ตามธรรมชาติอีกแล้ว ภูมิคุ้มกันที่ได้รับเข้าไปจึงไม่สูงมาก พอคนกลุ่มนี้ซึ่งตอนนี้โตจนมีครอบครัวและตั้งครรภ์ จึงไม่สามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันจึงเริ่มพบสัญญาณโรคในเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจึงได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ว่าจะบรรจุให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะประเทศไทยเน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค และวัคซีนนี้ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ แต่ถ้าปล่อยให้ป่วยแล้วจะเสียค่ารักษามากกว่านี้” พญ.ปิยนิตย์กล่าว

พญ.ปิยนิตย์กล่าวว่า โรคไอกรนเมื่อก่อนเรียกว่าโรคไอร้อยวัน เป็นการไอหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งหากเป็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ไม่อันตรายมาก เพราะท่อหายใจมีขนาดใหญ่แล้ว สามารถรับกับการไอหนักๆ ได้ แต่ถ้าเกิดในเด็กเล็กซึ่งหลอดลมเล็กมาก เมื่อไอหนักๆ ก็รับไม่ไหว ไอหนักจนตาแดง เลือดออกในตา อาเจียน หายใจไม่ออก เขียว และเสียชีวิตได้ ที่ผ่านมาต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาขยายหลอดลม ซึ่งเด็กต้องนอนที่ รพ.นานเป็นเดือนๆ ถ้ารักษาหายก็กระทบกับพัฒนาการของเด็ก เรียกว่ารักษาหายได้แต่สะบักสะบอมมาก ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่อนุมัติให้วัคซีนหญิงตั้งครรภ์ ก็อยากเตือนคนที่มีลูกเล็กต่ำกว่า 2 เดือนที่ยังไม่ถึงวัยรับวัคซีนว่าไม่ควรให้เด็กไปสัมผัสกับคนมากๆ หลีกเลี่ยงคนที่มีอาการไอต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น