เครือข่ายผู้บริโภค จี้ กทม. แก้ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน เผย ผลสำรวจ 2 รอบ พบ 90% ยังเป็นตู้เถื่อน ไม่ได้ขอใบอนุญาต เสนอ 50 เขต บังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง
วันนี้ (30 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร นำโดย น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เดินทางมายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเรียกร้องให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. แก้ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2558 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้สุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทำในพื้นที่ กทม. 18 เขต รวม 855 ตู้ พบว่า 1. มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย ไม่มีใบอนุญาต ร้อยละ 91.76 2. สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 เช่น ริมถนน ริมทางเท้า อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน ร้อยละ 22 เป็นต้น และจัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยว เช่น กรุงเทพมหานคร, สำนักอนามัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้น ผ่านมาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า จนมาปี 2560 เครือข่ายฯ ได้ทำการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญซ้ำ โดยดำเนินการในกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต พบว่า ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังคงมีตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ กว่าร้อยละ 90 เครือข่ายจึงติดต่อและส่งข้อมูล รวมถึงข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้งแต่ไม่ได้ความร่วมมือ จึงตัดสินใจทำหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้ กทม. เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของผู้ใช้บริการตู้น้ำดิ่มหยอดเหรียญ และรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในวงกว้าง
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า หลังจากส่งข้อมูลปี 2560 และข้อเสนอแนะไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง กลับไม่ได้รับการตอบรับและได้รับคำตอบว่าให้ติดต่อไปยัง กทม. ซึ่งหน่วยงานที่สูงกว่า แต่เมื่อส่งจดหมายสอบถามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ไปยัง กทม. ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ โดยข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร คอบช. และ มพบ. มีดังนี้ 1. ต้องสั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต บังคับใช้ทางกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพราะเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2. สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งแล้วในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้นยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ให้เรียกมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อสืบหาเจ้าของตู้ได้ หรือไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที
3. สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องทำสติกเกอร์วันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรอง และวันเดือนปีที่ตรวจคุณภาพน้ำ และให้ผู้ประกอบกิจการลงบันทึกทุกครั้งที่หน้าตู้ ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน และ 4. ขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ