มนุษย์ทุกผู้ล้วนมีเพื่อน
แต่ละคนมักจะมีเพื่อนแบ่งตามประเภทแตกต่างกันไปเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนใหญ่จะแบ่งกลุ่มเพื่อนตามช่วงวัย เช่น สมัยเรียนอนุบาล สมัยเรียนประถม สมัยเรียนมัธยม สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หรือแบ่งกลุ่มตามสถานที่ เช่น เพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน ฯลฯ ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะมีวงสังคมแบบไหน มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือมีวิถีชีวิตอย่างไร ก็จะทำให้แต่ละช่วงชีวิตมีเพื่อนในช่วงเวลานั้น ๆ ส่วนจะพัฒนาความสัมพันธ์แบบไหนอย่างไร ก็ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล
ตอนนี้พอมีโลกออนไลน์ ทำให้การได้กลับไปเจอเพื่อนในอดีต หรือได้พูดคุยกับเพื่อนในแต่ละช่วงชีวิตก็ทำได้ง่าย แตกต่างจากในอดีตที่การเจอะเจอเพื่อนเก่าแต่ละทีดูจะยากเย็น
และแน่นอนนอกจากการได้มีโอกาสได้กลับไปพูดคุยกับเพื่อนเก่าในแต่ละช่วงวัยผ่านโลกออนไลน์ การมีเพื่อนใหม่ผ่านโลกออนไลน์ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลายคนรู้จักกันผ่านโลกออนไลน์และกลายเป็นเพื่อนที่ดีและสนิทกันมีไม่น้อย จนสุดท้ายก็เป็นเพื่อนประเภทที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเพื่อนทางโลกออนไลน์ ซึ่งนับว่าแต่ละคนก็จะมีเพื่อนกลุ่มนี้มากขึ้น ๆ
แต่สำหรับคนรุ่นรอยต่อของยุคสมัยก็จะมีวิธีคิดเรื่องเพื่อนที่แตกต่างกันออกไป
ถ้ารุ่นพ่อแม่เราก็จะมีเพื่อนในรูปแบบที่เจอะเจอกันในแต่ละช่วงวัย จะให้มีเพื่อนทางออนไลน์ใหม่ ๆ เป็นเรื่องยาก แต่คนรุ่นดิฉันก็จะเริ่มมีสัดส่วนที่ผันแปร มีเพื่อนตามช่วงวัยที่พบปะกันบ้าง แต่ก็เปิดรับเพื่อนใหม่ทางโลกออนไลน์มากขึ้นตามวัย
ในขณะที่เด็กที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล คำว่าเพื่อนของพวกเขาอาจมีนิยามที่ต่างกันออกไปจากยุคสมัยของคนเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อนตามช่วงวัยย่อมมีแน่นอน และช่องทางการสื่อสารของเพื่อนตามช่วงวัยของพวกเขาก็คือการสื่อสารผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก เพื่อนใหม่ทางโลกออนไลน์ของพวกเขาจึงดูเหมือนกำลังจะเพื่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวิถีชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องมือสื่อสารทางเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
เด็กบางคนอยู่บ้านทั้งวัน แต่ก็พูดคุยกับเพื่อนได้ทั้งวัน !
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับเด็กยุคนี้ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว โลกที่ลูกของเราต้องเติบโตขึ้นไปในอนาคต เป็นโลกที่พ่อแม่ต้องเปิดใจ และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูก เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในครอบครัวด้วย
แนวโน้มที่เด็กยุคดิจิทัลจะเปลี่ยนวิธีสร้างสัมพันธ์กับคำว่าเพื่อนก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นมีสูงถึง 80 - 90 % โดยผู้ที่มีอายุ 19 - 25 ปี มีจำนวน 95.6 % ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟน เด็ก ๆ ทั่วโลกหันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น เด็ก ๆ เปลี่ยนวิธีที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนของตนเองผ่านโลกออนไลน์เป็นหลัก
ปัญหาเดิม ๆ ที่พ่อแม่เคยกังวลใจสมัยลูกเล็กๆ ประเภทเมื่อลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียน เข้ากับเพื่อน และคุณครูได้ไหม หรือปัญหาเรื่องการคบเพื่อน เพราะกังวลว่าลูกจะคบเพื่อนไม่ดี ก็จะเปลี่ยนไป พ่อแม่รุ่นนี้กลับกังวลใจกับเพื่อนของลูกบนโลกออนไลน์มากกว่า
ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะอยากสะกิดเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่มักมีทัศนคติในการพยายามที่จะเข้าไปควบคุมลูกเรื่องการคบหาเพื่อนฝูงของลูก โดยเฉพาะเพื่อนทางโลกออนไลน์ ที่พ่อแม่มักมีทัศนคติลบไว้ก่อน และมักจะพยายามเข้าไปควบคุมเรื่องการคบเพื่อนของเขา ไม่เป็นการดีแน่ค่ะ
การที่เราพยายามจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือควบคุมการคบเพื่อนของลูก อาจจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกได้ เพราะลูกมักต่อต้านคำสั่งของพ่อแม่ การห้ามไม่ให้ลูกคบเพื่อนคนใดคนหนึ่งเท่ากับเป็นการแสดงให้ลูกเห็นว่า เรากำลังหวั่นไหวถึงอิทธิพลจากเพื่อนที่จะส่งผลต่อลูก ทั้งยังเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้ลูกเข้าใจได้ว่าพ่อแม่คิดว่าเขายังคิดอะไรเองไม่เป็น ไม่ไว้วางใจ
ผลที่เกิดขึ้นจึงมักตรงกันข้าม คือ เด็กมักจะเลือกคบเพื่อนประเภทที่พ่อแม่รังเกียจ เป็นการท้าทายอีกต่างหาก
ฉะนั้น พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจชีวิตของเขาเอง โดยเราคอยดูอยู่ห่างๆ เพราะเท่ากับว่าเราได้เรียนรู้โลกของลูกของเราไปด้วย
ประการแรก - ปรับทัศนคติตัวเองก่อน
พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อนว่า ชีวิตเป็นของเขา การที่เขาจะเลือกคบใครก็เป็นเรื่องของเขา ต้องเคารพการตัดสินใจ และให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าเพื่อนของเขาเป็นอย่างไร เราเองก็เคยผ่านช่วงชีวิตที่มีทั้งเพื่อนที่ดี และเพื่อนไม่ดี ลูกก็ควรได้รับโอกาสนั้นด้วยตัวเอง เพียงแต่รูปแบบของสัมพันธภาพอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ควรปรับตัวต่างหาก
และคำพูดประเภทที่ว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน เพราะฉะนั้นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่เท่านั้น” ไม่ได้เด็ดขาดแล้วล่ะค่ะ เพราะเงื่อนไขของชีวิตในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติใหม่ด้วยว่า “ฉันอาบร้อนน้ำมาก่อน ฉันก็ต้องเป็นพ่อแม่ที่เปิดใจรับฟังลูกให้มาก”
ประการที่สอง - เข้าใจพัฒนาการตามวัย
ยิ่งเมื่อลูกกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขาที่จะให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น พ่อแม่ต้องตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ลูกจะค่อย ๆ ห่างจากเราไปบ้าง เพื่อนจะเข้ามามีบทบาทกับลูกของเรามากขึ้น
แต่ถ้าพ่อแม่เอาแต่พร่ำสอนเรื่องการคบเพื่อนอยู่ตลอดเวลา และก็ได้แต่พร่ำบ่นว่าควรจะต้องคบเพื่อนแบบไหน ไม่ควรคบแบบไหน เพื่อนทางออนไลน์น่ากลัว ฯลฯ รับประกันว่าเขาไม่ฟังคุณหรอก แต่ถ้าเรารู้เท่าทันก็ควรจะต้องทำหน้าที่พ่อแม่เชิงรุก เพื่อแทรกซึมมิใช่แทรกแซง เพื่อให้เขารู้เท่าทันโลกออนไลน์ และฝึกให้ลูกเรียนรู้เรื่องการคบเพื่อนที่ดี ที่สำคัญต้องทำให้ลูกไว้ใจพ่อแม่ด้วย
ประการที่สาม - เปิดใจทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก
เริ่มจากการพูดคุยกับลูกเรื่องเพื่อน ให้ลูกเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนทางออนไลน์ ถ้าพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เล็ก ๆ ลูกก็จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อแม่ฟังเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อเขาเติบโตเข้าสู่วัยก่อนวัยรุ่น หรือวัยรุ่น ลูกอาจจะพูดคุยเป็นปกติ เพียงแต่อาจประหยัดคำพูดหรืออาจจะไม่ได้เล่ารายละเอียดทั้งหมด พ่อแม่ก็อย่าเซ้าซี้ หรือคิดว่าลูกเปลี่ยนไป แต่พ่อแม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ ฟังเท่าที่เขาอยากจะเล่า อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ความเป็นไปของลูก แล้วเมื่อถึงเวลาเขาจะอยากเล่าเรื่องของเขาให้เราฟังเอง
ประการที่สี่ - รักลูกให้รักเพื่อนลูกด้วย
เมื่อได้มีโอกาสพบเพื่อนของลูกพยายามสร้างมิตรภาพอันดีให้เกิดขึ้น เมื่อรักลูกก็ให้รักเพื่อนของลูกด้วย อย่ารีบด่วนสรุปว่าเพื่อนลูกเราเป็นอย่างไร การแต่งเนื้อแต่งตัว การใช้ภาษา หรือความสนใจของเด็กวัยนี้ บางคนอาจจะดูแปลกๆ ไปบ้าง หรืออาจดูล้ำเกินวัยไปหน่อย ก็อย่าแสดงความไม่พอใจ แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่าเป็นวัยของเขาด้วย และทำให้เพื่อน ๆ ของลูกไม่รู้สึกอึดอัดเมื่อได้อยู่ใกล้กับพ่อแม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาความสัมพันธ์ อาจชวนพูดคุยเรื่องกิจกรรม เรื่องงานอดิเรก หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม หรืองานอดิเรกของลูกและเพื่อนลูกด้วย
แต่ถ้าหากเราแสดงท่าทางไม่สนใจไยดีในตัวเพื่อนของลูก หรือไม่ชอบที่ลูกคบเพื่อนทางออนไลน์ ลูกจะรู้สึกอึดอัดทันที และจะรู้สึกว่าระหว่างพ่อแม่กับเพื่อนนั้นเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่อยากให้เพื่อนและพ่อแม่เจอหน้ากันอีก เท่ากับคุณได้ตัดโอกาสของคุณไปเองด้วย
ประการที่ห้า - พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนลูก
ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ใกล้ชิดกับลูก สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องก็เยี่ยมมาก แต่ถ้าสามารถแบ่งปันไปถึงเพื่อนลูกได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะบางคราเด็กบางคนอาจมีปัญหาที่ไม่สามารถหาทางออกได้ แต่สามารถมาปรึกษาคุณได้ ก็จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกเกิดความภาคภูมิใจและไว้วางใจพ่อแม่มากขึ้นไปอีก เพราะสามารถช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนของเขาได้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นผลดี มีอะไรก็จะปรึกษาพ่อแม่ของเขาอย่างแน่นอน
ประการที่หก - ฝึกให้ลูกรู้ทันโลกออนไลน์
เรื่องการคบเพื่อนเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยให้ลูกได้เผชิญชีวิตเอง สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ก็คือเฝ้ามองดูอยู่ห่าง ๆ และสร้างภูมิต้านทางชีวิตให้ลูกด้วยคำแนะนำ หรือเทคนิคของแต่ละคนว่าในโลกออนไลน์ มีทั้งคนดีและไม่ดี ควรจะมีวิธีในการแยกแยะ หรือระมัดระวังตนแค่ไหนอย่างไร เพราะโลกออนไลน์ก็อาจมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาเป็นมิตรกับเราก็ได้ อาจยกตัวอย่างข่าวคราวที่เป็นอุทาหรณ์ทางโลกออนไลน์ให้ลูกได้เห็นได้ฟัง แต่อย่าไปพยายามควบคุม หรือสั่งสอน เพราะคุณจะได้ผลลัพธ์ในทางตรงข้าม
การคบเพื่อนเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องพยายามทำความเข้าใจลูกเสียก่อนว่า เด็กอาจมีความคิดของเขาที่เราเองก็คาดไม่ถึงหรือไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ความใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เขาพูดคุยกับเราได้ทุกเรื่อง เพราะอย่างไรเสีย คำสุภาษิตที่ว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” เป็นเรื่องจริงแท้และแน่นอน