xs
xsm
sm
md
lg

“อรรถพล” หอบเอกสาร คอมพ์ มอบ ป.ป.ท.สาวต่อทุจริตกองทุนเสมาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“อรรถพล” นำหลักฐานเอกสาร คอมพ์ 2 เครื่อง ที่เห็นว่ามีประโยชน์กับรูปคดีทุจริตกองทุนเสมาฯ มอบให้ ป.ป.ท. ด้านพยาน เผย นับถือ “รจนา” เหมือนแม่คนที่สอง เคยถอดสร้อยคอให้ไปจำนำ และให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหา

วันนี้ (10 เม.ย.) นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย คณะกรรมการสืบสวนฯ เจ้าหน้าที่นิติกร และพยาน 1 ปาก เดินทางไปให้ข้อมูล รวมทั้งได้นำเอกสารหลักฐานไปให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

นายอรรถพล กล่าวว่า ตนได้นำเอกสารหลักฐานที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับรูปคดี นำเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 2 เครื่อง จากห้องทำงานของนางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 ที่ถูกไล่ออกจากราชการไปแล้ว พร้อมนำพยาน 1 ปาก ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเปิดบัญชีรับโอนเงินจากนางรจนาไปให้ปากคำกับ ป.ป.ท. ทั้งนี้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้นิติกร สป.ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

นายอรรถพล กล่าวว่า วันที่ 11 เม.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เพราะเท่าที่ตนได้ตรวจสอบเรื่องนี้ได้เห็นช่องโหว่ ของกองทุนฯ ว่า หลายจุด อยู่ตรงจุดไหนบ้าง ซึ่งการทุจริตเงินกองทุนเสมาฯ เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ทุกคนมองข้าม บวกกับความไว้วางใจต่อตัวบุคคล ไม่ป้องกันความเสี่ยง แต่มองข้ามความเสี่ยง ถ้ามีมาตรการป้องกันความเสี่ยงไว้ เหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น สังเกตเห็นได้ง่ายๆ กรณีให้คนโอนเงินไปที่ไหนก็ตาม คนที่แจ้งว่าโอนเงินไปแล้ว ควรจะเป็นคนละคนกัน แต่นี้ปล่อยให้นางรจนาเป็นทั้งคนโอนเงิน และทำหนังสือแจ้งผู้รับทุนเองด้วย หากนางรจนาอยากปรับเปลี่ยนอย่างไรก็แจ้งไปอย่างนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องความประมาทเลินเล่อ ต่อไปนี้ก็ต้องทำอย่างเป็นระบบให้มากขึ้น เพราะได้รับบทเรียนราคาแพงไปแล้ว

ด้านพยาน กล่าวว่า ตนเคยได้รับทุนจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต หากจำไม่ผิดสมัยเรียนอยู่ โรงเรียนศึกษาศึกษาสงเคราะห์บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อปี 2536 - 2537 ซึ่งเป็นเด็กทุนตกเขียวรุ่นแรกๆ โดยได้รับทุนประเภทของใช้ - เสื้อผ้า ต่อมาในปี 2548 หลังจากที่ตนเรียนจบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)แล้วก็ได้มาทำงานในกองทุนเสมาฯที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยการชักนำของนางรจนา ตนนับถือเหมือนเป็นแม่คนที่สอง ช่วงที่ทำงานในกองทุนเสมาฯได้ช่วยงานตามที่นางรจนาใช้ เช่น รวบรวมรายชื่อเด็กที่ได้รับทุนเสมาฯทั่วประเทศ

“ตนนับถือนางรจนาเหมือนแม่ ในสายตาเป็นคนดีมาก คอยช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนทุกคน อย่างตนมีปัญหาเดือดร้อนนางรจนาจะให้คำปรึกษาที่ดีมาก ครั้งหนึ่งตนไม่มีเงินใช้ นางรจนาเคยถอดสร้อยคอให้ตนไปจำนำเพื่อนำเงินไปใช้จ่าย และนางรจนาเคยให้ตนเปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินจากกองทุน และให้ตนโอนกลับคืนไปให้นางรจนา ซึ่งเคยโอนเงินมากสุดอยู่ที่หลักแสนบาท โดยไม่เคยถามถึงเหตุผลที่ทำแบบนี้ เมื่อปี 2550 ตนได้ลาออกจากกองทุนเสมาฯ โดยไปขายมือถือกับเพื่อน เพราะช่วงนั้นตนมีลูกเล็ก จึงอยากมีเวลาเลี้ยงลูกมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น