สธ. ชู “กระชายดำ - ขมิ้นชัน - บัวบก - ไพล” เป็นพืชเศรษฐกิจ ต่อยอดผลิตเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา ดึงกรมแพทย์แผนไทยฯ - องค์การเภสัชฯ รับซื้อพ่วงประกันราคาให้เกษตรกรที่ปลูก จัดเวทีประชุมให้ผู้วิจัยและผู้ประกอบการได้ต่อยอดธุรกิจ
วันนี้ (4 เม.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ Champion Products “ศักยภาพสมุนไพร...สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ว่า สธ. และ 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสมุนไพรไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ. 2560 - 2564 ดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิจัยจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ยารักษาโรค เวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม รวมทั้งได้ร่วมกันคัดเลือกสมุนไพรนำไปวิจัยต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นแชมเปียนโปรดักส์ ทั้งหมด 12 ชนิด คือ กวาวเครือ กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก ไพล ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง ว่านหางจระเข้ และ หญ้าหวาน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปี 2560 ได้คัดเลือกให้สมุนไพรแชมเปียนโปรดักส์ 4 ชนิด คือ กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก และ ไพล เป็นสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ ต่อยอดผลิตหลายรูปแบบ ทั้งเวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็จะพยายามประกันราคาให้กับเกษตรกรที่จะปลูกเหล่านี้ และเราจะรับซื้อ เพื่อทดแทนพืชบางส่วนที่อาจไม่เป็นพืชเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น ข้าว หรือยางในบางพื้นที่ ดังนั้น การจัดงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ปี 2561 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบกับผู้ประกอบการด้านสมุนไพร 400 รายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการวิจัยให้กับเอกชนและผู้ประกอบการที่สนใจ และวางแผนพัฒนาสมุนไพร โดยเฉพาะการผลิตสมุนไพรแชมเปียนโปรดักส์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับประเทศ
“อย่างใบบัวบกซึ่งมีการสกัดแล้วนำไปทำเป็นเซรัมพบว่าช่วยบำรุงผิวดีมาก เป็นที่นิยมมากขายได้ราคาดี ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือของรัฐที่วิจัย และเอกชนนำไปพัฒนาต่อ คือความยั่งยืนของสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากสมุนไพร หรืออย่างขมิ้นชัน มีความต้องการมาก เพราะเอาไปทำทั้งยา เครื่องสำอาง ขณะนี้ก็ขาดตลาด อย่างกรมวิชาการเกษตร ก็ต้องเข้ามาช่วยในเรื่องของการปลูก การเพาะเนื้อเยื่อ และพื้นที่ปลูกที่ไหน จึงจะได้ต้นอ่อนที่มีคุณภาพนำเอามาทำสารสกัดได้ดีและเพียงพอต่อการใช้” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มี การบรรยายพิเศษเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ งานวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางและยาสมุนไพรตำรับมะเร็ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ๆ มาตรฐานสารสกัดขมิ้นชัน กับฟ้าทะลายโจร และเปิดตัวโครงการวิจัยคลินิกศึกษาประสิทธิผลสารสกัดฟ้าทะลายโจรเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ได้นำสายพันธุ์และพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกสมุนไพรกระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน บัวบก การให้คำปรึกษาการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ช่องทางการเข้าถึงฐานข้อมูลการวิจัยสมุนไพร Application สมุนไพร อีกด้วย