สอศ. เดินหน้าฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น อีทูอี ครั้งที่ 3 เผยมี 47 หลักสูตร ฟุ้งยอดสมัครร่วมอบรม 1.3 หมื่นคน
วันนี้ (4 เม.ย.) นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ Education to Employment : Vocational Boot Camp (E to E) ครั้งที่ 3 กล่าวว่า Thailand 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจากรูปแบบเดิม ไปสู่รูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง และกระจายไปสู่ ทุกภาคส่วน รัฐบาลจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ยุค Thailand 4.0 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ เป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 โดยมุ่งเน้นการใช้แนวทางพลังประชารัฐ คือ การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ชุมชน จังหวัด สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่างๆ
ทั้งนี้ อาชีวศึกษาจะต้องเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ยุคสมัยที่คนอาชีวศึกษารุ่นใหม่จะเข้าสู่สังคมดิจิตอล ชาญฉลาดในการใช้เทคโนโลยี สร้างสรรค์ผลงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องไม่ลืมพัฒนาสมรรถนะหลัก ควบคู่กับ คุณธรรม เรียกว่า “SEE” (Skills, English, Ethics) โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดำเนินงานโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ Education to Employment : Vocational Boot Camp (E to E) ครั้งที่ 3 โดยเป็นการสานพลังประชารัฐ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมร่วมกันเพื่อเข้าสู่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) ทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) เพื่อให้ผู้เรียน ปวช. ปวส. ชั้นปีสุดท้าย ที่กำลังจะจบการศึกษาจากอาชีวศึกษา และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่ว่างงาน หรือต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ทำงานร่วมกับองค์กรและสถานประกอบการได้อย่างกลมกลืน เป็นกำลังคนที่ทรงคุณค่า พร้อมจะพัฒนาประเทศ และความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ Education to Employment : Vocational Boot Camp ( E to E) ครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อช่วงปิดเทอมปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา พบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก และมีผู้เข้าอบรมกว่า 100,000 คน เนื่องจากได้รับความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ทันสมัยสามารถนำไปประกอบอาชีพ ต่อยอดธุรกิจและเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ รวมทั้งได้พัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและประเทศ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม โดยสถานประกอบการร่วมเป็นคณะกรรมการในการพัฒนาหลักสูตร ทำให้ได้มาซึ่งหลักสูตรคุณภาพ สอดคล้องกับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนส่งวิทยากรมาช่วยฝึกอบรมในทุกรายวิชาที่สถานศึกษาเปิดสอนเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความรู้และทักษะการปฏิบัติงานจริง
โดยการฝึกอบรมวิชาชีพ ครั้งที่ 3 มีหลักสูตรรวมจำนวน 47 หลักสูตร เช่นหลักสูตร กลุ่ม First S-Curve เช่นหลักสูตรบำรุงรักษาระบบเครื่องยนต์เรือเจ็ตสกี หลักสูตรสร้างหุ่นยนต์เดินตามเส้นในโรงงานอุตสาหกรรม หลักสูตรจัดแสดงสินค้าในธุรกิจค้าปลีกโดยใช้ระบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์ และหลักสูตรการปลูกพืชด้วยแสงอาทิตย์เทียม และหลักสูตรกลุ่ม New S-Curve ได้แก่ หลักสูตรควบคุมหุ่นยนต์การผลิตในงานอุตสาหกรรม หลักสูตรบริการล้อยางและระบบเบรกอากาศยานส่วนบุคคล หลักสูตรเขียนแบบและทำรายละเอียดงานโครงสร้างด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (BMI) และหลักสูตรงานแจ้งเตือนภัยผู้บุกรุกยามวิกาลบ้านผู้สูงวัยผ่าน Line Notify ด้วยคอมพิวเตอร์ระบบสมองกลฝังตัว โดยวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 253 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 656 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีตัวเลขผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมลงทะเบียนจำนวนกว่า 13,000 คน
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มุ่งที่จะยกระดับคุณภาพและเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านอาชีวะของประเทศให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและการประกอบอาชีพอิสระ โดยให้มีสมรรถนะหลัก ควบคู่กับ คุณธรรม ตามแนวคิด “Work Hard be Nice”ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ จะสานต่อการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ สอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการ และแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้กำลังคนอาชีวะ สามารถตอบโจทย์ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ตามนโยบายรัฐบาล