xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง 6 อาการป่วย จากอากาศร้อนจัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย เตือนอากาศร้อน เสี่ยงป่วย 6 อาการ ทั้งผื่นผิวหนัง บวมที่ข้อเท้า ตะคริว เป็นลม เพลียแดด และ ลมแดด พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเอง

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้ช่วงกลางวันมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งความร้อนเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้ง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผู้ทำงาน หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง นักกรีฑา หรือผู้ที่เล่นกีฬาหนักๆ รวมทั้งทหารเกณฑ์ จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนเกิดจากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินกว่าที่ร่างกายจะทนได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ดังนี้ 1. ผื่นผิวหนัง เกิดจากร่างกายขับเหงื่อออกมามากจนเกิดการอักเสบของรูขุมขนทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและเป็นตุ่มสีแดงหรือผื่นที่บริเวณหน้า ลำคอ หน้าอกส่วนบน ใต้ราวนม และขาหนีบ แนะนำให้อาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และทายาบริเวณที่เป็นผื่น

2. บวมที่ข้อเท้า เกิดจากเส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ทำให้เกิดอาการบวมที่ขา โดยเฉพาะที่ข้อเท้า จึงควรพักผ่อนและนอนยกขาสูง 3. ตะคริวเกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวและเกร็งอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณขา แขน และ ท้อง ซึ่งพบในผู้ที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหนัก จนร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว นวดกล้ามเนื้อเบาๆ ประมาณ 1 - 2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป

4. เป็นลม เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่ออากาศที่ร้อนขึ้น เนื่องจากร่างกายพยายามขับความร้อนส่วนเกินออก โดยการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปที่ผิวหนังเป็นผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วขณะ ทำให้เป็นลมหมดสติได้ วิธีช่วยเหลือคือให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้น ใช้หมอนรองขาและเท้าสูงกว่าลำตัว พัดโบกลมให้ถูกหน้า ลำตัว และให้ดมยาหม่องหรือยาดมอื่นๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้ไปพบแพทย์

5. เพลียแดด สาเหตุสำคัญเกิดจากการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ที่สำคัญจำนวนมากไปกับเหงื่อเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ที่มีอาการเพลียแดดยังคงมีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และกระหายน้ำอย่างมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว แต่ยังคงมีสติอยู่ วิธีช่วยเหลือ คือ ให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูง ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ หากผู้ป่วยมีอุณหภูมิภายในร่างกายสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที

และ 6. โรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) เป็นโรคที่รุนแรงมาก เกิดขึ้น เมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ อาการที่พบ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังแดง ร้อน เหงื่อไม่ออก สับสน หมดสติ และหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง วิธีช่วยเหลือผู้ป่วย คือ พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือในรถที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือห้องที่มีความเย็น ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ทั้งนี้ หากพบคนไม่สบายหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบโทรหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือติดต่อสายด่วนช่วยชีวิต 1669


กำลังโหลดความคิดเห็น