xs
xsm
sm
md
lg

หมอแนะวิธีการช่วยเหลือคนเป็นโรคลมแดด หลังพบมีผู้ป่วยตายจากอากาศร้อนจัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลฯ หรือ สคร.10 แนะวิธีดูแลคนป่วยและวิธีป้องกันไม่ให้ป่วยจากโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) ขณะมีอากาศร้อนจัด เพื่อลดความเสี่ยงเจ็บตายจากโรคนี้ หลังพบมีคนเสียชีวิต ทั้งการดื่มสุราแล้วไปงมหาหอยในแม่น้ำ และผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวนอนเสียชีวิตจากสภาพอากาศในปีนี้

จากกรณีพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี รับแจ้งมีชายวัย 40 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะลงหาหอยในแม่น้ำมูล บริเวณสะพามข้ามแม่น้ำบ้านบัวท่าบัวเทิง ต.กุดลาด ขณะที่ดื่มสุราเข้าไปก่อน ทำให้อุณหภูมิร่างกายร้อนผิดปกติ และยังพบคุณตาวัย 71 ปี นอนเสียชีวิตในโรงเก็บของวัดบ้านตำแย ต.ไร่น้อย ซึ่งสันนิษฐานการเสียชีวิต เพราะโรคประจำตัวกำเริบจากสภาพอากาศร้อยจัดนั้น

ล่าสุด นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี หรือ สคร.10 กล่าวถึงอาการของโรคลมแดดเกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันกับความร้อนที่เกิดขึ้น ปกติร่างกายมนุษย์มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส หากเผชิญกับอากาศที่ร้อนกว่านี้และร่างกายไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิได้ จะทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง

อาการของโรคที่เกิดขึ้น คือ ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หายใจเร็ว ไม่มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันต่ำ มึนงง ชักเกร็ง และหมดสติ

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น คนงานก่อสร้างที่ทำงานกลางแดด เกษตรกร การเล่นกีฬากลางแจ้ง ต่อมาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน คนอดนอน และคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด

ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมแดดมี คือ นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก เทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ

แต่ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย แล้วรีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 นำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

สำหรับการป้องกันไม่ให้เป็นลมแดด คือ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวด้านหลอดเลือด หรือหัวใจ หากจำเป็นให้กางร่มหรือใส่หมวก ดื่มน้ำเปล่ามาก โดยไม่ต้องรอหิวน้ำ ไม่ทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดดเพราะอาจเสียชีวิตจากความร้อนได้ หากรู้สึกหิวน้ำมาก ตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ ปากคอแห้ง อาจวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ทันที

ด้านศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี รายงานสภาพอากาศวันที่ 22 - 23 เม.ย. มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ บริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36 - 41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 10 - 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับระหว่างวันที่ 24 - 28 เมษายน มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22 - 24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 - 33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10 - 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงขอให้ระมัดระวังสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น