xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” แจงเปิดข้อมูลสัตว์ป่วยตาย เหตุหวั่น “ไข้หวัดนก” กลายพันธุ์ระบาดสู่คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอธีระวัฒน์” แจงเปิดข้อมูลสัตว์ป่วยตายในสวนสัตว์โคราช เหตุหวั่นเชื้อ “ไข้หวัดนก” กลายพันธุ์ ติดต่อสู่คน เพราะไม่แจ้งสาธารณสุขป้องกัน คนในแย้มต้นตอสัตว์ป่วยตายอาจมาจาก “นกกระทา” ที่เป็นอาหารสัตว์ มีการให้ยาป้องกันหวัดนกคนสัมผัส 32 ราย ติดตามแล้วยังไม่พบป่วยในคน เผย ปศุสัตว์คุมหมดตรวจเชื้อหวัดนกในสัตว์ ตอบยากคุมได้แล้วจริงหรือไม่ เหตุไม่เคยเปิดข้อมูล

จากกรณีมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการระบาดของไข้หวัดนกในสวนสัตว์โคราช โดยมีสัตว์ชนิดอื่นตายนอกจากสัตว์ปีก จนอาจลุกลามมาสู่การระบาดในคนได้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ไม่มีการระบาด

วันนี้ (26 มี.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากเดิมเชื้อไข้หวัดนกจะพบในสัตว์ปีก เช่น ไก่และนก เป็นต้น แต่การพบสัตว์ป่วยตายในสวนสัตว์โคราช ไม่ใช่สัตว์ปีก แต่เป็นสัตว์บก อย่างชะมด อีเห็น เสือปลา เสือกระต่าย พังพอนกินปู แสดงว่า เชื้อมีการปรับตัวทำให้เกิดการข้ามสายพันธุ์ ทำให้แพทย์และสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านโรคจากสัตว์มีความกังวลว่า มีความเสี่ยงติดต่อสู่คนได้ หากไม่ระวังหรือป้องกันไว้ก่อน และเมื่อติดในคนมากๆ จะมีความเสี่ยงที่อาจติดจากคนสู่คนได้ ถือว่าอันตรายทำให้คนในแวดวงกลัวว่า เชื้อจะปรับตัวเกิดการกลายพันธุ์รุนแรง ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่ต้องเปิดเผยเรื่องนี้ ไม่ใช่ปิดว่าสัตว์ป่วยตายแต่ไม่ใช่ไข้หวัดนก และไม่พบป่วยในคน เพราะหากทำเช่นนี้จะทำให้ขาดโอกาสในการเฝ้าระวังในคน

“การออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ แต่ต้องการให้เกิดระบบการเฝ้าระวังโรคอย่างรัดกุม เพราะเสี่ยงเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชน หากไม่แจ้งต่อสาธารณสุข การจะไปแจ้งเตือนแพทย์ให้เฝ้าระวังค่อนข้างลำบาก แต่หากมีการประกาศชัดจะทำให้มีความระมัดระวังในการตรวจสอบ แม้คนมีอาการเล็กน้อยแค่ไข้หวัด ก็จะมีการซักประวัติการสัมผัสโรค สัมผัสสัตว์เสี่ยง รวมทั้งมีการดำเนินการควบคุมผู้มีประวัติใกล้ชิดสัตว์ที่ป่วยตาย สิ่งสำคัญคือ ต้องมีระบบในการแจ้งเตือนให้คนตื่นตัวในระดับเข้มข้น คือ ต้องมีการรายงานข้อมูลจริงให้ทราบเป็นระยะ โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขควรต้องทราบในแต่ะละพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อโรคจากสัตว์มาสู่คน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขและสัตวแพทย์ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ทราบเรื่อง มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ พร้อมมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์และคน คือ ปิดเขตโซนสัตว์กินเนื้อขนาดเล็ก แล้วทำความสะอาด ช่วงวันที่ 26 ส.ค. 2560 จากนั้นเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสัตว์ป่วยและสุ่มตรวจหาเชื้อในสัตว์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง งดนำเข้าอาหารที่เป็นสัตว์ปีกเข้ามาในสวนสัตว์ งดการเคลื่อนย้ายสัตว์ และจำกัดกิจกรรมในสวนสัตว์ ประสานปศุสัตว์จังหวัด และติดตามข้อมูลฟาร์มนกกระทา ที่มาจาก 4 อำเภอ คือ ปักธงชัย ด่านขุนทด สีคิ้ว และโนนไทย รวมถึงประสานทีมเคลื่อนที่เร็วของจังหวัด เพื่อร่วมสอบสวนค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในฟาร์ม รวมทั้งตรวจสอบในสัตว์เพิ่มเติม

“การที่มุ่งไปที่นกกระทา เพราะสอบสวนโรคพบว่า สัตว์ชนิดอื่นๆ ที่กินเนื้อไก่เดียวกันไม่ได้ป่วย จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากนกกระทา เพราะเป็นอาหารสัตว์ด้วย แต่ก็ฟันธงยาก เพราะเมื่อไม่มีการยอมรับออกมา และไม่ทราบผลตรวจในนกกระทา ทำให้การติดตามโรคยากมาก แต่ขณะนั้นที่ทราบว่าเป็นไข้หวัดนก เพราะมีการตรวจในสัตว์ที่ตายและผลออกมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในคน เราพบมีผู้สัมผัส ซึ่งอยู่ในสวนสัตว์จำนวน 32 รายได้ให้ยาโอเซลทามีเวียร์เพื่อป้องกันโรค และติดตาม 2 - 3 สัปดาห์เพื่อให้มั่นใจ โดยกลุ่มเสี่ยงสุดก็ขอให้อยู่ที่สวนสัตว์ ไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้าย โดยปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยในคน” แหล่งข่าว กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนั้นควบคุมจนไม่มีการระบาดสัตว์ตายจากไข้หวัดนกแล้วใช่หรือไม่ แหล่งข่าว กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะข้อมูลนี้ทางกรมปศุสัตว์ไม่ได้ออกประกาศชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจว่าในโคราชยังพบสัตว์ป่วยตายหรือไม่ คงต้องไปสอบถามทางประชาชนในพื้นที่เอง ว่า มีไก่ตายมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากปัจจุบันการจะตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ทำได้แค่ของกรมปศุสัตว์ เมื่อเขายังคงยืนยันว่า ครั้งนั้นไม่ใช่ก็จนใจ ยิ่งห่วงกระทบกับเศรษฐกิจอีก ขณะที่จีนมีเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ก็ประกาศชัด แถมมีส่งออกไก่อีก ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะทุกอย่างอยู่ที่ระบบในการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน การจะปิดทั้งหมดไม่ได้ส่งผลดีกับประชาชนเลย ดังนั้น หากปศุสัตว์จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน ก็อยากให้เปลี่ยนแนวความคิดเดิมๆ และปรับระบบการแจ้งเตือน สื่อสารข้อเท็จจริงดีกว่า เพราะการสื่อสารความเสี่ยงมีกลไกวิธีการอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น