xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเสี่ยง “โรคติดต่ออุบัติใหม่” 3 กลุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เผย ประเทศไทยเสี่ยง “โรคติดต่ออุบัติใหม่” 3 กลุ่ม จากกลุ่มอุบัติซ้ำ กลุ่มโรคแพร่มาจากต่างประเทศ และกลุ่มโรคใหม่ในอนาคต จากการกลายพันธุ์และดื้อยา เร่งดำเนินการสุขภาพหนึ่งเดียว ร่วมดูแลสุขภาพทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม

วันนี้ (14 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงกรณีอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนมากขึ้น อาจส่งผลกระทบในหลายด้าน รวมถึงอาจเกิดโรคระบาดใหม่ หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการทบทวนรายชื่อโรคติดต่ออันตรายที่อาจมีการแพร่ระบาดได้ทั่วโลก ซึ่งยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน เพื่อให้ทุกประเทศมีการเตรียมพร้อมรับมือและทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม รวมทั้งเน้นในเรื่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ หรือสุขภาพหนึ่งเดียว กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเดินทางที่สะดวกทำให้โรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น

“โรคติดต่ออุบัติใหม่ส่งผลกระทบต่อคน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยที่ผ่านมาโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงในประเทศไทย มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. โรคติดต่ออุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เช่น โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (2009) เป็นต้น 2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง โรคไข้เวสไนล์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น และ 3. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่ เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ นอกจากนี้ ยังมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการทั้งสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศ ระหว่าง 8 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และ สภากาชาดไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น