xs
xsm
sm
md
lg

“ปวดน่อง” ไม่เกี่ยว “ข้อเข่าเสื่อม” เกิดจากกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาฉีกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์ชี้ อาการปวดบริเวณน่อง ไม่เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม แต่เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา พบได้บ่อยในนักกีฬา หรือนั่งทำงานนานๆ เหตุจากใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปทำให้บางส่วนฉีกขาดและอักเสบ แนะวิธีการป้องกันและรักษา

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการปวดบริเวณน่อง คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม แต่แท้จริงแล้วเป็นการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาบริเวณใกล้น่อง ซึ่งเกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมากเกินไป ทำให้อักเสบ เช่น การวิ่งเร็ว หรือการวิ่งเร็วสลับกับหยุดวิ่งแบบฉับพลันอย่างต่อเนื่อง การเล่นกีฬาประเภทวิ่งหรือกระโดด ซึ่งพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะนักวิ่ง นักกีฬา นักเต้น โดยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังถูกฉีกกระชาก จนกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดและเกิดการอักเสบขึ้น รวมถึงการนั่งทำงานเป็นเวลานาน เพราะกล้ามเนื้อต้องอยู่ในท่าที่หดเกร็งโดยไม่ขยับเขยื้อนนานจนกล้ามเนื้อตึง ทำให้เกิดการแพลงหรืออักเสบได้ง่าย

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ระดับความรุนแรงจากการอักเสบแบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยและหายได้ จนถึงกล้ามเนื้อฉีกขาดทั้งหมดและใช้เวลานานในการรักษา สำหรับอาการที่พบจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา คือ ปวดแปลบที่กล้ามเนื้อต้นขาแบบเฉียบพลัน บวมในช่วง 2 - 3 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ ฟกช้ำหรือมีสีผิดปกติที่ขาด้านหลังใต้หัวเข่าในช่วง 2 - 3 วันแรก และกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาอ่อนแรงนานเป็นสัปดาห์ ซึ่งจะต่างจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการข้อเข่าฝืด ตึง ปวดบริเวณข้อและมีเสียงในข้อเข่าเวลาขยับเคลื่อนไหว เนื่องจากการสึกหรอของข้อต่อภายหลังการใช้งานมานานและอายุที่มากขึ้น

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า การรักษาผู้ที่มีอาการปวดบริเวณน่อง เพื่อซ่อมแซมการฉีกขาดภายในกล้ามเนื้อ แพทย์ที่ทำการรักษาอาจจำเป็นต้องเอกซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูระดับความรุนแรงและตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด สำหรับวางแผนในการรักษาได้ถูกต้อง การรักษาผู้ที่มีอาการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 วิธี วิธีแรกคือ การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น ใช้ถุงน้ำแข็งประคบประมาณ 20 นาที อย่าให้น้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง แล้วพันข้อด้วยผ้าพันแบบยืดหยุ่น และนอนพักยกขาให้สูงเหนือหัวใจเพื่อลดอาการบวม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไม้เท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่ขาหรือใส่เฝือกในช่วงสั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ขาอยู่ในตำแหน่งปกติ

นพ.สมพงษ์ กล่าวว่า วิธีที่สองคือ การรักษาโดยกายภาพบำบัด ด้วยการเหยียดแบบเบาๆ ช่วยฟื้นฟูช่วงการงอยืดและออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำว่าเมื่อใดจะสามารถกลับไปทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัย และวิธีที่สาม การรักษาด้วยการผ่าตัดเมื่อเส้นเอ็นฉีกขาดจากกระดูกอย่างสมบูรณ์ และเพื่อซ่อมแซมการฉีกขาดภายในกล้ามเนื้อ สำหรับการป้องกันสามารถทำ ได้โดยอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก่อนและหลังเล่นกีฬา ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและป้องกันการขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดตะคริว ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง อีกทั้งเสริมความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น