วธ. เร่งทุกกรมเบิกจ่ายงบลงทุนภายใน มี.ค. นี้ สั่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านศาสนา - ศิลปวัฒนธรรมเป็นมรดกแผ่นดิน จัดพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่เล็งนำร่องกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ส่งครูสอนอาชีพด้านศิลป์แก่เยาวชนในสถานพินิจ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ครั้งที่ 2/2561 ที่ประชุมรับทราบผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ไตรมาส 2 (มกราคม - มีนาคม 2561) ณ วันที่ 19 ก.พ. โดยภาพรวมการเบิกจ่ายงบของ วธ. อยู่ที่ร้อยละ 30.53 ขณะที่งบลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 20.15 ซึ่งที่ประชุมกำชับให้แต่ละกรมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบ และก่อหนี้ผูกพันงบลงทุนภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่สำนักงบประมาณกำหนดกรอบเวลาไว้ นอกจากนี้ ได้ให้ทุกกรมและองค์การมหาชน 3 แห่งที่อยู่ในความดูแลของ วธ. ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศูนย์คุณธรรม และหอภาพยนตร์ สรุปผลการดำเนินงานในรอบ 4 ปี พร้อมจัดทำเป็นวีดิทัศน์เสนอ วธ. เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายวีระ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมให้แต่ละกรมไปรวบรวมองค์ความรู้ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมในทุกสาขาที่เป็นมรดกของแผ่นดินและจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่สู่สังคมไทยในปีนี้ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) รวบรวมข้อมูลเรื่องการส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทย รายได้จากผ้าไทย และโรงเรียนที่ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทย รวมถึงจัดทำแผนงานเพื่อส่งเสริมเรื่องดังกล่าวด้วย และให้ประสานงานกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำป้ายบอกทางไปยังสถานที่ตั้งต้นไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรุกขมรดกแห่งแผ่นดินในจังหวัดต่างๆ และให้กั้นบริเวณต้นไม้ไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ รวมถึงจัดให้มีจุดแจกต้นไม้ พื้นที่ตั้งร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมและสินค้าเกษตร จัดให้มีที่จอดรถและห้องน้ำเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล
นายวีระ กล่าวว่า สวธ. รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนไทยสามารถเล่นดนตรีไทย หรือดนตรีสากลได้อย่างน้อย 1 ชิ้น หรือแสดงนาฏศิลป์ได้ตามข้อสั่งการของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยสวธ.ได้เริ่มดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับสภาพและแนวทางในการจัดการทรัพยากรดนตรีศึกษาในสถานศึกษาของประเทศไทย อาทิ จำนวนครูผู้สอนและเครื่องดนตรี จำนวนบริษัทผู้ผลิตและร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีสากล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ สวธ. เพิ่มเติมประเด็นการวิจัย โดยให้สำรวจสถานศึกษาที่เปิดสอนด้านดนตรีไทย ดนตรีสากลและศิลปวัฒนธรรมทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ซึ่งในระหว่างนี้ สวธ. ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมคู่ขนานกัน อาทิ อบรมพัฒนาครูผู้สอนดนตรีไทยในภาคต่างๆ การคัดเลือกเยาวชนต้นแบบดนตรีไทย การจัดให้มีโรงเรียนนำร่องสอนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้ให้ สวธ. ศึกษาแนวทางการให้รางวัลแก่ศิลปินไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงในการแข่งขันทางศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติเช่นเดียวกับนักกีฬาทีมชาติไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมกำชับให้สวธ.ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) และ กรมศิลปากร (ศก.) เร่งจัดทำหลักสูตรและส่งบุคลากรไปสอนอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงโขน นาฏศิลป์ ร้องเพลงให้เยาวชนในสถานพินิจใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯเชียงใหม่ ขอนแก่นและสงขลา ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะนำร่อง 2 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ โดยดำเนินการในสถานพินิจจังหวัดละ 1 แห่ง รวมถึงให้ ศก.และ สบศ.บูรณาการความร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินโครงการส่งเสริมให้มีห้องสมุดภายในสถานพินิจทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของสถานพินิจอีกด้วย