ประกันสังคมเตรียมออกกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ “แรงงานนอกระบบ” มี 2 ทางเลือก เพิ่มสิทธิประโยชน์ โดยไม่เพิ่มเงินสมทบ และจ่ายสมทบเพิ่ม เพิ่มความคุ้มครอง เผยอยู่ระหว่าง ครม. พิจารณา
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเร่งผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างทั่วถึง ว่า สปส. ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจแรงงานนอกระบบ ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมากยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1. เพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ไม่เพิ่มเงินสมทบ (ทางเลือกเดิม) ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบ 2 อัตรา โดยให้เลือกในอัตราเดือนละ 70 บาท และอัตราเดือนละ 100 บาท จะได้รับสิทธิเพิ่ม เป็นเงินทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นวันละ 300 บาท กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท
“สำหรับทางเลือกเดิม กรณีนอนพักรักษาตัวกับไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้รวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี กรณีไปพบแพทย์แต่ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวไม่ถึง 3 วัน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละ 50 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง ให้เงินสงเคราะห์กรณีตายเพิ่มอีก 3,000 บาท ถ้าส่งเงินครบ 60 เดือน” นพ.สุรเดช กล่าว
นพ.สุรเดช กล่าวว่า 2. เพิ่มความคุ้มครองและเพิ่มเงินสมทบ (ทางเลือกใหม่) โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท เพิ่มเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นวันละ 300 บาท กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท สำหรับทางเลือกใหม่ กรณีนอนพักรักษาตัวกับไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี อีกทั้งเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เป็นตลอดชีวิต เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาท เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพเป็นเดือนละ 150 บาท ส่งเงินครบ 180 เดือน ให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรแรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
“การดำเนินการดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะต้องออกกฎหมายรองรับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานนอกระบบ ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เสนอกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับการดูแลคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาแรงงานนอกระบบนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมที่จะต้องให้การดูแลแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการดูแลแรงงานนอกระบบร่วมกับภาครัฐภายใต้กลไกประชารัฐ ที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้คนไทยทุกคน มีหลักประกันถ้วนหน้า สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” นพ.สุรเดช กล่าว