xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจพบ “ยาเค” ลอบใส่ขวดติดฉลาก “คอนแทคเลนส์-น้ำยาละลายขี้หู” มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ ตรวจ “ยาเค” ของกลาง พบลักลอบบรรจุขวดติดฉลาก “คอนแทคเลนส์ - น้ำยาละลายขี้หู” จำนวนมาก แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องเฝ้าระวัง พร้อมเตือนนักท่องราตรีใช้ยาเคติดต่อกันนาน ทำเกิดอาการทางจิต กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ถึงขั้นต้องใส่กระเพาะปัสสาวะปลอม

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า Club Drugs คือ ยาและสารเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิงที่มีการเต้นรำ มีการแพร่ระบาดตามเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว และแถบชายทะเลของประเทศ ซึ่งหมู่วัยรุ่นและนักท่องราตรีนิยมใช้ สำหรับประเทศไทย Club Drugs ที่ใช้ ได้แก่ ยาอี (ecstacy) และ คีตามีน (ketamine) หรือ ยาเค เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ คีตามีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มีข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์เพื่อเป็นยาสลบ นอกจากนี้ ยังใช้บรรเทาอาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตีบเรื้อรัง ใช้บรรเทาอาการปวดหลังเข้ารับการผ่าตัดและช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีน ใช้บำบัดอาการซึมเศร้าในโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น

“ปัจจุบันมีการผลิตคีตามีนรูปแบบยาผงสีขาวมาจำหน่าย โดยคีตามีนจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง เมื่อเสพเข้าไปจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม กระบวนการทางความคิด การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียงเปลี่ยนแปลงไป ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน หากใช้คีตามีนในปริมาณมากจะทำให้เกิดการกดการหายใจ และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการทางจิต ประสาทหลอน หูแว่ว กลายเป็นคนวิกลจริตได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่า การใช้คีตามีนปริมาณมาก จะทำให้เป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดแสบปวดร้อนเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ จนถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระเพาะปัสสาวะเพื่อใส่กระเพาะปัสสาวะปลอม” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า ในปัจจุบันถึงแม้จะมีมาตรการทางกฎหมายออกมาควบคุมคีตามีนอย่างเข้มงวด แต่ยังพบว่ามีการนำคีตามีนไปใช้ในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของการใช้คีตามีนในทางที่ผิด จึงทำการศึกษาโดยการรวบรวมข้อมูลตัวอย่างคีตามีนที่ส่งตรวจวิเคราะห์จากสถานีตำรวจในภาคตะวันออกของปีงบประมาณ 2557 - 2560 จำนวน 87 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ผงละเอียดสีขาวจำนวน 64 ตัวอย่าง หรือ 73.6% และของเหลวใสบรรจุในขวดยาฉีดแก้วปริมาตร 8 - 10 มิลลิลิตร จำนวน 23 ตัวอย่าง หรือ 26.4% ดำเนินการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ด้วยวิธี Thin Layer Chromatography (TLC) และตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารบริสุทธิ์ด้วยวิธี Gas Chromatography (GC) ผลการตรวจวิเคราะห์ ตรวจพบคีตามีน 85 ตัวอย่าง หรือ 97.7% และมีความบริสุทธิ์ของคีตามีนอยู่ในช่วง 68.1 - 99.9% นอกจากนี้ ยังพบว่า ตัวอย่างสารละลายคีตามีนที่พบในปัจจุบัน มักจะบรรจุอยู่ในขวดที่มีฉลากที่แปลกไปจากเดิม เช่น ฉลากระบุว่าเป็นคอนแทคเลนส์ น้ำยาละลายขี้หู เป็นต้น เพื่อให้ง่ายแก่การลักลอบขนส่ง ขาย และนำไปใช้ในทางที่ผิด ข้อมูลนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท



กำลังโหลดความคิดเห็น