xs
xsm
sm
md
lg

ผลแล็บชัด เชื้อก่อท้องร่วงในไทยยังเป็น “โนโรไวรัส” ชี้โรตาไวรัสลดลง เหตุมีวัคซีนช่วยป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์เผยผลตรวจไวรัสท้องเสียจากผู้ป่วยและน้ำดื่ม ส่วนใหญ่พบเชื้อ “โนโรไวรัส” ถึง 76% โรตาไวรัสพบ 19.8% ชี้ เชื้อโนโรไวรัสยังไม่มีวัคซีน แต่โรตาไวรัสมีวัคซีนแล้ว ช่วยลดการระบาดลงได้ดี

จากกรณีดาราป่วยโรคท้องเสีย โดยระบุว่ามาจากเชื้อโรตาไวรัสและไม่มียารักษา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่า เชือ้ไวรัสก่อให่เกิดอาการท้องเสียมาจากเชื้อโรตาไวรัส มักพบในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี และเชื้อโนโรไวรัสมักพบในผู้ใหญ่

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในประเทศไทยเป็นโรคที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ มีการระบาดในช่วงหน้าหนาว โดยเชื้อไวรัสโนโร (Norovirus,NoV) ประกอบด้วย 5 จีโนกรุ๊ป (Genogroup) คือ GI - GV จีโนกรุ๊ปที่มักก่อโรคในมนุษย์ คือ จีโนกรุ๊ป 1 (GI) และ จีโนกรุ๊ป 2 (GII) โดยเฉพาะจีโนกรุ๊ป 2 พบว่ามีอัตราการก่อโรคในคนสูงที่สุด ทั้งนี้ ในแต่ละจีโนไทป์ยังสามารถจำแนกออกได้อีกหลายสายพันธุ์ย่อย อาการที่พบ ได้แก่ คลื่นไส้รุนแรง ปวดท้องและท้องร่วง ซึ่งมีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น อาการร่วมอย่างอื่นที่พบ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ เชื้อใช้เวลาในการฟักตัว 12 - 48 ชั่วโมง ไวรัสโนโรนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน

นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนไวรัสโรตา (Rotavirus) มี 7 กลุ่ม คือ A, B, C, D, E, F และ G ซึ่งไวรัสโรตา กรุ๊ป A เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาการมักรุนแรงในเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี มีระยะฟักตัว 1 - 2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำ มักหายได้เองภายใน 3 - 8 วัน และเนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ จึงสามารถเกิดโรคได้หลายครั้ง แม้จะมีการใช้วัคซีนถึง 2 ชนิดแล้ว แต่ด้วยคุณสมบัติของไวรัสโรทาที่มียีนมากถึง 11 จีโนม จึงทำให้เกิดการผสมข้ามยีนกันในแต่ละ 11 จีโนม เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ง่าย สำหรับไวรัสโรทานี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันได้แล้ว

“ห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงทั้งจาก 2 ไวรัส ซึ่งข้อมูลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2557 - ต.ค. 2560 ได้รับตัวอย่างทั้งจากผู้ป่วยและน้ำดื่มน้ำใช้ ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอุจจาระร่วง จํานวนทั้งสิ้น 990 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่ให้ผลบวก หรือพบไวรัส จำนวน 273 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 27.6 เมื่อนำตัวอย่างที่ให้ผลบวกมาจำแนกชนิดของไวรัส พบว่า ไวรัสโนโร เป็นไวรัสที่พบมากคิดเป็นร้อยละ 76.2 ของจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวก และ GII เป็นจีโนกรุ๊ปที่พบมากที่สุด ที่เหลือเป็นไวรัสโรตา คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวก ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการพบไวรัสโรตาในกลุ่มอาการอุจจาระร่วงลดลงนี้มีผลมาจากการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ” นพ.สุขุม กล่าวและว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคอุจจาระร่วง ประชาชนควรดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากจะเก็บอาหารที่ค้างมื้อควรเก็บไว้ในตู้เย็น และก่อนรับประทานต้องอุ่นให้ร้อนทุกครั้ง และควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น