xs
xsm
sm
md
lg

คุณเป็นพ่อแม่ที่หยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้ลูกหรือไม่! / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โรคซึมเศร้า ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องเพราะเกิดเหตุการณ์คนฆ่าตัวตายติดต่อกันหลายวัน และส่วนใหญ่เมื่อได้สืบเสาะปัญหาก็พบว่ามีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมสุขภาพจิตได้เปิดเผยว่าโรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรโลกมากกว่า 300 ล้านคน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง หรือปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า

สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน !

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่เข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่า เมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว เคยมีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า ขณะนั้นโรคนี้ยังไม่ได้รับการพูดถึงนัก ผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าลูกเป็นอะไร มองว่าลูกเพี้ยน เก็บกด ขี้แพ้ ไม่รู้จักโต เจอปัญหาแค่นี้ก็รับไม่ได้ กลายเป็นว่าครอบครัวก็ไม่เข้าใจ หน้ำซ้ำยังต่อว่าเพราะคิดว่าลูกอ่อนแอ จนกระทั่งอาการของเธอรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะถึงมือหมอก็เกือบสายเกินไป

ทุกวันนี้อาจดูเหมือนเธอสามารถใช้ชีวิตปกติทั่วไปได้ แต่เรื่องสภาวะจิตใจไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว ต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน กินยาและบำบัดจิตใจอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันนี้โรคซึมเศร้าเป็นที่แพร่หลาย ข้อมูลข่าวสารที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ดูเหมือนกลับพบคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบ้านเราที่ตัวเลขเมื่อปี 2559 พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอันดับ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่นและสวีเดน สาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การหลั่งฮอร์โมน การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ หรือมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความผิดหวัง ความสูญเสีย ความเครียด เมื่อปัจจัยเหล่านี้มารวมกัน ทำให้คนๆ นั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การมองโลก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ไม่สามารถบังคับความคิดของตัวเองได้ เพราะสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ

พลันให้นึกถึงคำพูดของเพื่อนในวัยเยาว์คนนั้นที่ผิดหวังและบอกว่า “เราไม่มีความหมายอะไรในชีวิต ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เราอยากตาย”

ความผิดหวังครั้งนั้นกลายเป็นความผิดหวังระดับรุนแรงที่ยากต่อการเยียวยา เธอเริ่มเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร จนสุดท้ายต้องเข้ารับการบำบัดชนิดเต็มรูปแบบจากแพทย์

ดิฉันนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะมาสะดุดเข้ากับข่าวคราวในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่มีคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ส่วนหนึ่งเพราะมีอาการโรคซึมเศร้า!

โรคนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปแล้ว เพราะนับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที และกำลังกลายเป็นปัญหาสังคมในระดับรุนแรงได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งในสภาวะสังคมแห่งการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทุกวันนี้เราได้เคยเหลียวไปมองดูคนรอบข้างด้วยหรือเปล่าว่ามีใครบ้างหรือเปล่าที่กำลังเข้าข่ายอาการที่ว่านี้

และอย่าคิดว่า เด็กไม่มีทางเป็นโรคซึมเศร้าได้

เพราะในความเป็นจริงเด็กยุคนี้มีความเสี่ยงสูง มีความกดดันสูงต่อการแข่งขันรอบตัว ทั้งเรื่องการเรียนที่ต้องเรียนหนักและต้องเรียนดี การแข่งขันสูงตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นว่าต้องเก่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ยังไม่นับรวมปัญหาสังคมที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างความเครียดให้กับเด็กยุคนี้รายวัน

แต่อะไรก็ไม่ร้ายแรงเท่าคนเป็นพ่อแม่ เป็นผู้หยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้กับลูกคุณเอง

คุณเป็นพ่อแม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ลูกต้องเผชิญกับภาวะความเครียดหรือไม่ และเมื่อลูกประสบปัญหาแล้ว พ่อแม่เข้าใจหรือไม่ และจัดการปัญหานั้นอย่างไร

ลองมาสำรวจดูว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายเหล่านี้หรือไม่

หนึ่ง - ไม่เคยฝึกให้ลูกผิดหวัง

ความผิดหวังเป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ทุกคนมีทั้งความสมหวังและผิดหวัง ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อผิดหวังแล้วเราจะทำอย่างไร จึงจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นได้ และสามารถแปรเป็นพลังให้สามารถลุกขึ้นได้ใหม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ หรือสร้างวัคซีนใจให้กับลูกอย่างรอบด้าน ยิ่งสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูงในทุก ๆ ด้าน จำเป็นที่ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตอย่างรอบด้าน สอนให้ลูกรู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล และต้องให้รู้จักผิดหวังเป็น

สอง - ไม่เคยให้กำลังใจ

กำลังใจและคำพูดด้านบวกมีพลังเสมอที่จะช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็ง การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ควรสนับสนุนให้ลูกเห็นว่าคุณค่าจากจิตใจด้านใน ให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตจริงผ่านความผิดหวังของผู้คนจากข้อมูลข่าวสารบ้าง และเขาเหล่านั้นสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้หรือผ่านพ้นวิกฤตทางใจเหล่านั้นได้อย่างไร

สาม - ไม่เคยให้ลูกเผชิญอุปสรรค

ชีวิตมีหลายด้านที่ต้องเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งเท่านั้นที่จะได้การยอมรับ แต่เก่งทางด้านอื่น หรือถนัดในด้านอื่นก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน และทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ล้วนแล้วต้องมีอุปสรรคทั้งสิ้น อยู่ที่มากน้อย และทัศนคติต่อการใช้ชีวิตว่าพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคเสมอ

สี่ - ไม่เคยยืดหยุ่น

ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่ต้องสร้างให้ลูก ๆ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ เพราะเมื่อมีสีขาวก็มีสีดำ หากไม่ขาวหรือดำ ก็ยังมีสีอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อผิดหวังก็มีสมหวัง ถ้าผิดหวังวันนี้ก็อาจสมหวังได้ในวันหน้า หรือสมหวังในวันนี้ ในวันหน้าก็ผิดหวังได้เช่นกัน ควรทำให้เขาเรียนรู้ว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติดหรือคิดว่าชีวิตหมดหนทาง

แต่ไม่ว่าจะสอนลูกอย่างไร เหนือสิ่งอื่นใดคือตัวพ่อแม่ต้องเข้าใจชีวิตอย่างรอบด้าน และไม่เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันชีวิตลูก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ต้องมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย การพูดคุยและการให้เวลาในครอบครัว เพื่อพูดคุยสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

...นี่อาจจะเป็น “ยา” ป้องกันโรคซึมเศร้าได้ในระดับสำคัญ และเป็น “ยา” ที่พ่อแม่เท่านั้นจะสั่งจ่ายให้ลูกของคุณได้


กำลังโหลดความคิดเห็น