xs
xsm
sm
md
lg

จ่อของบบัตรทองปี 62 รวม 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช. ผ่านงบปี 62 ชง ครม. เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 2 หมื่นล้าน ยังรวมเงินเดือนบุคลากรอยู่

วันนี้ (8 ม.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาวาระข้อเสนองบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า บอร์ด สปสช. ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการเสนอของบประมาณปี 2562 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสนอที่ประชุมบอร์ด สปสช. ถึงการจัดทำงบประมาณปี 2562 เสนอต่อ ครม. ว่า ในส่วนของการทำงบประมาณ จะพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดเก็บข้อมูลปี 2560 เพื่อประกอบการพิจารณาของบประมาณปี 2562 โดยภาพรวมงบประมาณที่จะเสนอคือ 193,922.1425 ล้านบาท โดยรวมทั้งงบเหมาจ่ายรายหัว งบค่าบริการอื่นๆ และงบเพิ่มเติมเฉพาะกรณี ทั้งนี้ หากแยกงบกองทุนบัตรทองจะอยู่ที่ 176,561.3815 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 156,019.6224 ล้านบาท ในปี 2561

“ปีนี้เสนอเพิ่ม 20,541.76 ล้านบาท โดยงบดังกล่าวรวมเงินเดือนภาครัฐขั้นปกติในระบบแล้ว คือ 47,314.9645 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือเงินที่อยู่ในกองทุนสปสช.อยู่ที่ 129,246.4170 ล้านบาท หากคิดเป็นเหมาจ่ายรายหัวจะอยู่ที่ 3,641.70 บาทต่อคน จากประชากรทั้งหมดที่ 48.575 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปี 2561 จำนวน 437.50 บาท โดยปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,197.32 บาทต่อประชากร” นพ.จเด็จ กล่าว

รองเลขา สปสช. กล่าวต่อว่า ส่วนการคำนวณงบประมาณปี 2562 กรณีงบเหมาจ่ายรายหัว จะแบ่งออกเป็น บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ผู้ป่วยในทั่วไป บริการกรณีเฉพาะ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ บริการแพทย์แผนไทย ค่าบริการทางการแพทย์ เงินช่วยเหลือผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และบริการจ่ายตามคุณภาพผลงานที่บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆ งบที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน โดยปัจจัยที่ทำให้งบเพิ่ม เนื่องจากเงินเฟ้อ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากการจัดทำข้อเสนอของบประมาณปี 2562 ซึ่งในปีนี้ สปสช. ยังเตรียมปรับปรุงรูปแบบการคำนวณกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRG ของ รพ. ต่างๆ จากเวอร์ชั่น 5 เป็นเวอร์ชั่น 6 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สปสช. กำลังพิจารณาร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการหากลไกดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้น เนื่องจากเผู้ป่วยเจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น เส้นเลือดสมองแตก เมื่อได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องพักฟื้นนั้น ควรมีกลไกดูแลด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังศึกษารูปแบบการจ่ายเงินอยู่ภายในเดือนมกราคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น