สปสช. เผย สำนักงบฯเสนองบเหมาจ่ายรายหัวปี 61 น้อยกว่าที่เสนอ 1.3 หมื่นล้านบาท รมว.สธ. เล็งประสานให้ข้อมูล “บิ๊กตู่” เห็นความสำคัญ ด้านสิทธิ อปท. ใช้งบรักษาเพิ่มขึ้น ชี้ ปี 60 งบมีใช้ได้ถึงเดือน เม.ย. เร่งหารือมหาดไทย - ท้องถิ่น หาทางออกระยะยาว
วันนี้ (6 ก.พ.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวาระเร่งด่วนเรื่องงบประมาณ ว่า ในปีงบประมาณ 2561 มีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จำนวน 48.797 ล้านคน ซึ่งได้เสนอของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวรวม 141,155.925 ล้านบาท โดยไม่รวมเงินเดือนของบุคลากร แต่สำนักงบประมาณได้เสนอรายงานไปยัง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุ งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 128,020.626 ล้านบาท แม้จะมากกว่างบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 จำนวน 4,554.98 ล้านบาท แต่ถือว่าน้อยกว่าที่ สปสช. เสนออยู่ถึง 13,135.1624 ล้านบาท ทั้งนี้ การหักเงินเดือนของปี 2561 สูงกว่าปี 2560 อยู่มาก เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีปัญหาต่องบเหมาจ่ายรายหัวที่จะน้อยลงไปด้วย โดยจะประสานไปยังสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับลดการหักเงินเดือนลง
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ตนจะประสานไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันการบริหารตามงบประมาณที่ได้รับอยู่ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว เนื่องจากประชาชนมีอายุสูงขึ้น มีโรคมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลก็ทันสมัยมากขึ้น อายุยืนยาวขึ้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณหลักประกันสุขภาพขึ้นด้วย
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. นำเสนอเรื่องงบประมาณค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงาน หรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ 2559 - 2560 ที่ไม่เพียงพอ ว่า ปัจจุบัน อปท. มีจำนวน 7,851 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 613,650 คน โดยปีงบประมาณ 2557 มีการใช้บริการสิทธิ อปท. โดยมีจำนวนเงินจ่าย 3,421 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 5,913 บาท ปี 2558 มีจำนวนเงินจ่าย 4,659 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 7,612 บาท และปี 2559 มีจำนวนเงินจ่าย 5,596 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 9,096 บาท แต่ในปีงบประมาณ 2560 พบว่า มีปัญหาการใช้จ่ายเงิน โดยมีจำนวนเงินเหลือ 3,403 ล้านบาท หากเบิกจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 466 ล้านบาท งบนี้จะใช้ได้ถึงเดือนเมษายน 2560 เท่านั้น จากการประมาณการปี 2560 จะขาดเงินสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลของ อปท. 2,648 ล้านบาท ดังนั้น ปีงบประมาณ 2561 ต้องใช้เงิน 9,046 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กรณีที่งบประมาณจะหมดลงเดือนเมษายนนี้ สปสช. ก็จะต้องหยุดการบริหารจัดการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว ส่วนการวางแผนในระยะยาวตนจะขอเข้าหารือกับคณะกรรมการกระจายอำนาจ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับงบประมาณที่จะมาสนับสนุนสิทธินี้ต่อไป ซึ่งจะดำเนินการให้ทราบรายละเอียดว่ามีแนวทางการดำเนินการอย่างไรก่อนเดือนเมษายน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับบริการ
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนจะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับบันทึกความร่วมมือระหว่าง สปสช. กับท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งให้ สปสช. จัดทำหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของพนักงาน/ลูกจ้าง อปท. ใหม่ด้วย