xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 3 ปัจจัย “ภูเก็ต” ลดเจ็บตายอุบัติเหตุทางถนนได้ 50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสส.เผย 1 ใน 3 รับเมาแล้วขับ ปริมาณรถออกใหม่มากวันละ 2,300 คัน เพิ่มเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ชี้แก้ปัญหาต้องแก้บริหารจัดการ แก้ไขจุดเสี่ยง บังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง ช่วยลดอุบัติเหตุได้ ย้ำเป็นเรื่องพฤติกรรมมากกว่าดวง ยกภูเก็ตต้นแบบแก้ปัญหาลดตายได้ครึ่งหนึ่ง

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์คาเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการปฐมนิเทศเพื่อการศึกษาดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดภูเก็ต ว่าองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ประเทศสมาชิกลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 50% ซึ่งประเทศไทยก็รับมาดำเนินงานเป็นวาระแห่งชาติ

“สถานะการความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย จากฐานข้อมูล 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลมรณบัตรและหนังสือรับรองการตายของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในปี 2559 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 22,356 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 ต่อประชากรแสนคน โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย และกลุ่มอายุ 25-29 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด สิ่งที่น่าห่วงคือทุกปีมีผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุ 5,000 คน หรือในทุกวันมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และมี 25 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิตซึ่งส่งผลกระทบ ต่อระบบบริการสาธารณสุขและความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกเรื้องการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจริงๆ ไม่อยากใช้คำว่าอุบัติเหตุจราจร เนื่องจากคนจะมองว่าเป็นเรื่องของดวง ทั้งที่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม การป้องกันหรือลดการเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่สามารถทำได้ด้วยใครคนหนึ่ง แต่ต้องร่วมกันทำในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่าน 5 เสาหลัก คือ การบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐานทางถนน ยานพาหนะ คนใช้รถใช้ถนน และการรักษาหลังเกิดเหตุ เนื่องจาก 60% ตายที่เกิดเหตุ สำหรับ จ.ภูเก็ตถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างสามารถลดการเสียชีวิตลงได้กว่าครึ่งหนึ่ง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า คนไทย 1 ใน 3 ยอมรับว่าเคยดื่มแล้วขับในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ายังมีคนเมาในท้องถนน และปัญหาอุบัติเหตุจราจรยังถูกโถมทับจากปริมาณรถจำนวนมาก ซึ่งทุกวันมีรถออกใหม่ 2,300 กว่าคัน จดทะเบียนตอนนี้กว่า 35 ล้านคัน ขณะที่เครื่องตรวจวัดความเร็วมีเพียง 1-2 เครื่องต่อจังหวัด สำหรับภูเก็ตเคยติด 1 ใน 5 ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงปี 2540-2549 แต่จากการที่ สสส.สนับสนุนการทำงานผ่านคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสามารถลดอัตราเสียชีวิตลงได้ 50% จากการวิเคราะห์และแก้ปัญหาจุดเสี่ยง ขณะที่ตำรวจเน้นบังคับใช้กฎหมายทั้ง สวมหมวกนิรถัย ดื่มแล้วขับ ตรวจจับความเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เครื่องยิงตรวจวัดความเร็ว กล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ส่งผลให้การเรียกตรวจและดำเนินคดีเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น 10 เท่า แต่ในปี 2559 สามารถลดคนเจ็บได้ร้อยบะ 3.5 และการเสียชีวิต ร้อยละ 8.8 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างของการทำงานแนวราบในระดับจังหวัดและพื้นที่ หากมีการขยายโมเดลการทำงานอย่างภูเก็ตไปทุกจังหวัด จะลดการตายจากอุบัติเหตุลงได้ และช่วยประเทศไทยลดอันดับพ้นจากท็อปเท็นของโลกได้

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธาน สอจร. โดย สสส.กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยทางถนน ปัจจัยใหญ่ 3 เรื่องที่ประเทศไทยยังขาด คือ การบริหารจัดการที่เข้มแข็ง การแก้ไขจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง แต่ภูเก็ตประสบความสำเร็จเพราะมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งทั้งสามเรื่อง จึงเป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลกเลือกมาประชุมและยกเป็นพื้นที่ต้นแบบ อย่างเรื่องหมวกนิรภัยเริ่ม 10 ปีที่แล้ว มีการบังคับอย่างจริงจัง ช่วยลดการบาดเจ็บศีรษะได้ครึ่งหนึ่ง และเพียงปีเดียวที่ดำเนินการ ทำให้มีการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น 50% ส่วนการแก้ไขปัจจัยเสี่ยง เช่น การลดความเร็ว ดื่มแล้วขับ ซึ่งต้องศัยการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตำรวจมีปัญหาเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณ ก็ขยับไปใข้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ฝ่าไฟแดงหรือไม่ ขับเร็วเกินหรือไม่ ส่งไปมือถือตำรวจ เป็นต้น จึงมองว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยควรมีเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยความสำเร็จเกิดขึ้นจาก สสส.เป็นตัวกลางประสานให้ทุกหน่วยงานได้ประชุมหารือดำเนินงานในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความสำเร็จทั้งด้านบริหารจัดการ การแก้ไขจุดเสี่ยง และบังคับใช้กฎหมาย

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุน สสส.กล่าวว่า เวลาเดินทางมักจะขอให้ตัวเราหรือลูกหลานปลอดภัยจากการเดินทางในที่ต่างๆ สะท้อนว่าคนยังกังวลปัญหานี้ ซึ่งการแก้ปัญหาขึ้นกับพวกเราเองทุกคน โดยการแก้ปัญหาเรื่องเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนทำได้ 2 มิติ คือ ป้องกันอย่าให้เกิดเหตุ และเมื่อเกิดเหตุแล้วมีการดูแลที่ดี ซึ่งการดูแลหลังเกิดเหตุมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยภูเก็ตมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ ครอบคลุมทุก 10 กิโลเมตร สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุใน 10 นาที ได้มากถึงเกือบ 80% โดยปี 2560 ภูเก็ตมีรถพยาบาล 101 คัน อนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เหตุการณ์บาดเจ็บ 100 เหตุการณ์ มาจากตัวคน 90% สิ่งแวดล้อมและถนน 10% ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องแก้พฤติกรรมไม่ปลอดภัย

นพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส.กล่าวว่า เทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการความปบอดภัยทางถนน โดยนายกเทศมนตรีให้ความสำคัญ โดยมีนโยบายสำคัญคือ แก้ไขจุดเสี่ยง ปรับสภาพถนนให้ปลอดภัย ติดไฟส่องสว่าง จัดสภาพแวดล้อมปลอดภัย เช่น ปลดป้ายโฆษณาที่กีดขวางวิสัยทัศน์ มีนโยบายจับปรับกรณีทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่น รถบรรทุกทำเศษหินดินตกหล่นบนถนน สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในโรงเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น