xs
xsm
sm
md
lg

7 เช็กลิสต์เตรียมพร้อมทีมช่วยเหลือ ปชช.ในพระราชพิธี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต แนะ 7 เช็กลิสต์เตรียมความพร้อมทีมช่วยเหลือประชาชนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ย้ำอย่าลืมดูแลจิตใจตัวเอง

นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานให้การช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ในริ้วขบวน (Helper) เป็นกลุ่มพลังสำคัญยิ่ง ที่จำเป็นต้องดูแลสภาพจิตใจของตนเองให้ดีเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ด้วยต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกเศร้า หรือเป็นผู้โศกเศร้าเองด้วย ตลอดจนต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวล หดหู่ ท้อแท้ เหนื่อยล้าจากการปฏิบัติงาน ที่ต่างก็มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่จนไม่มีเวลาดูแลจิตใจ หรือให้กําลังใจกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอแนะนำให้ เตรียมความพร้อม 7 ข้อ ดังนี้

1. กายใจพร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีสติ จิตใจเข้มแข็ง 2. สิ่งของจําเป็นพร้อม เช่น ยาดม ยาอม ยาหม่อง พัดลมพกพา ผ้าเช็ดหน้า หรือ ผ้าขนหนูสําหรับชุบน้ำเช็ดหน้าและตามตัว 3. อาหารและน้ำดื่มพร้อม รับประทานอาหารสุกใหม่ตามเวลา ไม่บูดเสียง่าย และพกขวดน้ำดื่มติดตัวมาด้วย 4. ยาพร้อม สำหรับผู้มีโรคประจําตัว รับประทานยาให้เรียบร้อย พกยาที่มีซองยาและระบุชื่อยาประจําตัวติดมาด้วย 5. เวลาพร้อม มาถึงจุดปฏิบัติงานก่อนถึงเวลาเริ่มปฏิบัติงาน 6. อุปกรณ์การปฏิบัติงานและวิทยุสื่อสารพร้อม และ 7. หมายเลขติดต่อหน่วยงาน/แหล่งให้ความช่วยเหลือพร้อม หากเกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืดจะเป็นลม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มึนงง หายใจเร็ว อาเจียน เป็นตะคริว ตัวร้อน กระหายน้ำมาก ใจสั่น มือสั่น สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์พยาบาลเคลื่อนที่ หรือกรณีเหตุฉุกเฉิน ติดต่อสายด่วน 1669 เป็นต้น

สำหรับแนวทางการดูแลจิตใจสำหรับ Helper ดังนี้ 1. ปลอดภัยไว้ก่อน หาที่ตั้งทํางานที่สะดวกและปลอดภัยต่อการทำงาน ทำงานสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อลดความล้าทางกายที่ส่งผลทางจิตใจ 2. ทบทวนการปฏิบัติงาน ประสบการณ์และการเรียนรู้หลังเสร็จสิ้นการทํางาน เพื่อให้รู้สึกมีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น 3. แบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นของตนเองและผู้อื่น อย่าเก็บไว้คนเดียว

4. พักยก ใช้เวลาสงบหรือทํากิจกรรมอื่นๆ เพื่อผ่อนคลาย เช่น หลับตาแล้วหายใจเข้าออกช้าๆ ออกกําลังกายเบาๆ หรือทํากิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ 5. สร้างบรรยากาศการทํางานที่ดูแลและเข้าใจกันและกัน ผู้ให้การช่วยเหลืออาจหงุดหงิดง่ายขึ้นและอาจมีเรื่องกระทบกันเอง การเข้าใจ ระบายความในใจ และใช้คําพูด ขอบคุณ หรือขอโทษบ้าง จะช่วยให้ดีขึ้น 6. มีความหวังที่เหมาะสม อย่างน้อยก็มีคุณค่าที่ได้ทํางานช่วยเหลือคนอื่น ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ก็ตาม แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเสมอ 7. พูดคุยขอความช่วยเหลือ ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้า การไปนั่งพักหรือพูดคุยกับทีมหรือผู้บังคับบัญชาเพื่อขอความช่วยเหลือ จะช่วยทําให้พลังการทํางานดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดจะค่อยๆ หายไปเองใน 2 - 4 สัปดาห์ เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าอาการเหล่านี้ รบกวนการทํางานหรือสร้างความเครียดให้เกิดขึ้น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ที่หน่วยเคลื่อนที่ สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

“ขอให้พึงระลึกเสมอว่า การปฏิบัติงานอันใหญ่หลวงในครั้งนี้ เป็นการรวมพลังเพื่อสืบสานพระราชปณิธานอย่างสุดกำลังความสามารถ ขอจงภูมิใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทํางานถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยความรักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมพลัง กันทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล ประคับประคองจิตใจพี่น้องชาวไทยให้ก้าวผ่านห้วงเวลาแห่งความทุกข์โศกนี้ไปด้วยกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น