xs
xsm
sm
md
lg

“ม.อ.ตรัง” ยันมหรสพในพิธีถวายดอกไม้จันทน์พร้อม “นศ.เขมร” ที่ร่วมแสดงบอกอิจฉาคนไทยที่มีกษัตริย์ที่เก่ง และรักพสกนิกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.สมโภชน์ เกตุแก้ว (ซ้าย) นายลี ลนตอง (ขวา)
 
ตรัง - “ม.อ.ตรัง” ยันเกือบ 1 พันชีวิตร่วมแสดงมหรสพวัฒนธรรมไทยที่เหมาะสม ในพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ ลานวัฒนธรรมทุ่งแจ้ง 26 ต.ค.นี้พร้อมแล้ว ด้าน นศ.กัมพูชาที่จะร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย เผยรู้สึกอิจฉาคนไทยที่มี “พระมหากษัตริย์” ที่เก่ง และรักประชาชน
 
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง) คณะครูนาฏศิลป์จากโรงเรียนประถม และมัธยมกว่า 10 แห่งใน จ.ตรัง ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและการจัดการ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ม.อ.ตรัง ซักซ้อมการแสดงที่จะมีร่วมในพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้
 

 
ดร.สมโภชน์ เกตุแก้ว หัวหน้าหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและการจัดการ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ม.อ.ตรัง กล่าวว่า ในส่วนของการแสดงมหรสพสมโภชที่ใช้ในการแสดงบนเวทีในพระราชพิธีนั้น ม.อ.ตรัง ได้มีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งใน จ.ตรัง ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนระดับอุดมศึกษา เพื่อน้อมนำการแสดงที่ดีที่สุดถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวง
 
โดยชุดการแสดงทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ดนตรี นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ และการแสดงพื้นบ้าน ใช้ศิลปินนักแสดง และทีมงานทั้งสิ้นกว่า 700 คน ชุดการแสดงทั้งหมด 13 ชุด ในส่วนของดนตรีได้จำแนกออกเป็น 3 ชุดการแสดง คือ ชุดดนตรีซิมโฟนิค จากโรงเรียนในสังกัดกลุ่มโรงเรียนเทศบาล ชุดดนตรีแจ๊ซ จากกลุ่มนักดนตรีอิสระลูกหลานคนตรัง ชุดดนตรีไทย จากโรงเรียนสภาราชินี ด้านนาฏศิลป์ไทยมี 2 ชุดการแสดง คือ โขนรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ และชุดระบำมาตรฐาน ชื่อชุดรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้านชุดการแสดงนาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์
 

 
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้โรงเรียนแต่ละแห่งที่เป็นเครือข่ายนาฏศิลป์ออกแบบสร้างสรรค์งานแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติอย่างสูงสุด โดยแบ่งออกเป็นนาฏยลีลา 3 ชุด และจินตลีลาอีก 7 ชุดการแสดง นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือจากศิลปินพื้นบ้าน สมาคมโนรา จ.ตรัง และชมรมหนังตะลุง จ.ตรัง ขนทัพหนังตะลุงมาแสดง และการแสดงโนราอีก 1 ชุดการแสดงร่วมในมหรสพสมโภชครั้งนี้ด้วย
 
“โดยทุกคนที่ร่วมแสดง หรือแม้แต่ในส่วนของทีมงานเบื้องหลังการแสดงล้วนทำด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดี และตั้งใจสร้างสรรค์งานครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพราะอยากแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย” ดร.สมโภชน์ กล่าวและว่า
 


 
สำหรับการเตรียมการแสดงมหรสพหน้าพระเมรุมาศจำลองของ จ.ตรัง ถือว่ามีความพร้อมกว่า 80% แล้ว ซึ่งทางโรงเรียนต่างๆ ก็ได้มีการซ้อมกันอย่างเต็มที่ และได้ติดตามการเตรียมความพร้อมของแต่ละโรงเรียนอยู่ตลอด ซึ่งการแสดงทุกชุดจะต้องสมพระเกียรติ เพื่อเทิดทูนพระองค์ท่านไว้อย่างสูงสุด โดยการแสดงมหรสพในครั้งนี้จึงไม่ใช่การแสดงเพื่อความบันเทิง ซึ่งทางผู้ว่าฯ ก็ได้เน้นย้ำว่า ในทุกชุดการแสดงจะต้องมีแนวทางเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และเทิดทูนพระองค์ท่านอย่างสมพระเกียรติที่สุด
 
ด้าน นายลี ลนตอง นักศึกษาสัญชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและการจัดการ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ม.อ.ตรัง กล่าวว่า ตนเองรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดีในครั้งนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.๙ ของไทยมีชื่อเสียงไปถึงประเทศกัมพูชาของตน และตนเองก็รู้สึกชื่นชม และอิจฉาคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่เก่ง และรักพสกนิกรเป็นอย่างมาก 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น