ตรัง - ชาว ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง พร้อมใจกันสืบทอดการแสดงมโนราห์ ศิลปะการร่ายรำอย่างงดงามตามแบบฉบับโบราณของภาคใต้ และยังคงมีอยู่ถึง 8 คณะ จนเรียกได้ว่ามากที่สุดของไทย
วันนี้ (2 พ.ค.) นางราตรี หัสชัย อดีตครูโรงเรียนวัดไทรทอง และประธานคณะกรรมการบ้านมโนราห์ ศูนย์เรียนรู้การแสดงมโนราห์ประจำตำบลโคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ใน ต.โคกสะบ้า มีคณะมโนราห์ หรือโนรา ซึ่งยังคงรักษาศิลปะการร่ายรำอย่างงดงามตามแบบโบราณอยู่ถึง 8 คณะ จนเรียกได้ว่ามากที่สุดของไทย พร้อมทั้งมีการฝึกลูกหลานให้รำมโนราห์อยู่เป็นประจำ จนเด็ก และเยาวชนในพื้นที่มีความรู้ทางศิลปะการแสดงชนิดนี้ไม่น้อยกว่า 200 คน นอกจากนี้ โรงเรียนประจำตำบลหลายแห่ง ยังได้เปิดชมรมศิลปะการแสดงมโนราห์ เพื่อสอนการรำ โดยเฉพาะการสอนลูกคู่ (นักดนตรี) ที่เริ่มจะหายากมากขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยความเจริญทางด้านวัตถุ และสิ่งบันเทิงอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ได้ทำให้พิธีกรรมมโนราห์ถูกตัดทอนลงไปมาก เพื่อย่นระยะเวลาให้สั้นลง อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ เพราะการรับไปแสดงแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ถ้าหากชุมชนไม่มีการสืบทอด หรือค้นคว้าภูมิปัญญาในบ้านตัวเอง สิ่งที่ดีงามก็จะค่อยๆ สูญหายไป เนื่องจากปัจจุบันนี้จะหาโอกาสชมมโนราห์ได้น้อยมาก เพราะงานรื่นเริงต่างๆ มีการว่าจ้างไปแสดงน้อยลง ขณะที่การร่ายรำก็จะฝึกแบบง่ายๆ ไม่เข้มงวดเหมือนเก่า เนื่องจากเด็ก และเยาวชนต้องเรียนหนังสือ จึงมีเวลาว่างเฉพาะช่วงเย็นๆ ในวันหยุด หรือช่วงปิดเทอม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับมโนราห์ยังคงแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวชุมชนโคกสะบ้าทุกเมื่อเชื่อวัน ตราบใดที่ครูหมอโนรา ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือยังอยู่ และยังคงมีโนราโรงครู (รำบูชาหมอตายาย) หรือโนราแก้เหมรย (รำแก้บน) กันอยู่แทบทุกบ้าน ประกอบกับทุกฝ่ายได้มีการส่งเสริมศิลปะแขนงนี้อย่างจริงจัง และมีการจัดตั้งบ้านมโนราห์ขึ้น จนทำให้เด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่อายุ 4-5 ปี หันมาเรียนรู้ หรือเอาดีทางการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้กันเป็นจำนวนมาก พร้อมกับการสร้างและพัฒนาโรงมโนราห์กลางให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โดยชุมชน และมีคณะมโนราห์เป็นแกนขับเคลื่อนหลัก