รพ.กรุงเทพ เผย ผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะ ควรทำในกลุ่มคนอ้วนที่คุมอาหาร ออกกำลังกาย กินยาแล้วไม่ได้ผล ชี้ ต้องตรวจประเมินและรักษาโรคร่วมก่อนผ่าตัด และติดตามภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีผู้ป่วยที่เข้าข่ายโรคอ้วนจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่เกินความต้องการและขาดการออกกำลังกาย เกณฑ์สำหรับผู้ที่มีความอ้วนแล้วเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) มากกว่า 30 คำนวณได้โดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 32.5 จะใช้วิธีการคุมปริมาณอาหารลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกาย ส่วนกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 32.5 ขึ้นไป และมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำวิธีลดน้ำหนักด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องแบบ Minimally Invasive Surgery (MIS) โดย ‘การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร’ เพื่อลดขนาดและลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารเป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กฟื้นตัวเร็ว
“แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เนื่องจากมีผลการวิจัยมาแล้วพบว่าคนไข้กลุ่มนี้ใช้วิธีการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือรับประทานยาไม่ได้ผลแล้วกลับมาอ้วนอีก ในที่สุดแพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้น้ำหนักลดลงได้ในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยให้ลดอัตราการใช้ยาในการรักษาโรคหัวใจและเบาหวานได้ในคนอ้วนดีขึ้นลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย” รศ.นพ.สุเทพ กล่าว
รศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า วิธีการผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะมี 3 เทคนิคด้วยกัน คือ 1. การใส่หูรูดรัดกระเพาะ (Laparoscopic Gastric banding) เป็นการนำซิลิโคนรัดบริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหารให้มีขนาด 30 cc. ทำให้คนไข้รู้สึกอิ่มเร็วเพราะกระเพาะเล็กลง ไขมันที่ห่อหุ้มกระเพาะจะหายไป คนไข้ทานได้เกือบปกติ น้ำหนักจะลดลง 60% ของน้ำหนักส่วนเกิน แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับคนไข้ที่อ้วนมากๆ ต้องมีการดูแลหลังการผ่าตัดอย่างใกล้ชิด คนไข้ต้องมีวินัยสูงในการรับประทานอาหารที่กำหนดไว้หลังการผ่าตัด 2. การตัดกระเพาะแบบบายพาส (Laparoscopic REY Bypass Gastrectomy) จะใช้วิธีการสอดกล้องทำการผ่าแผลขนาดเล็กบริเวณหน้าท้อง จากนั้นแพทย์จะทำการสอดใส่เครื่องมือเข้าไป เพื่อทำการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลงเป็นกระเปาะ และตัดลำไส้บายพาส 150 เซนติเมตร แล้วนำเอามาต่อกับกระเปาะและไปเชื่อมกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ส่วนแรกไป (บายพาส) มาต่อกับลำไส้ส่วนที่สอง การผ่าตัดด้วยวิธีนี้คนไข้ต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุด เพราะอาหารไม่ผ่านการย่อยในกระเพาะ
และ 3. วิธีการผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหารแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy – LSG) วิธีนี้เหมาะกับคนไข้ที่มีดัชนีมวลกายประมาณ 35 ขึ้นไป และมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า2 โรคขึ้นไปเป็นการผ่าตัดเพื่อนำกระเพาะออกไปประมาณ 80% ซึ่งรวมถึงส่วนที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุม ความหิว โดยตัดกระเพาะให้เป็นรูปท่อเรียวเหมือนกล้วยหอม มีความกว้างประมาณ 1 ซม. มีความจุ 150 cc. คนไข้จะทานอาหารได้น้อยลง วิธีนี้สามารถลดน้ำหนักได้มากถึง 40 - 60% จากน้ำหนักตั้งต้น โดยขั้นตอนการผ่าตัดแบบสลีฟจะใช้วิธีการส่องกล้อง มีแผลขนาดเล็ก 0.5 ซม. ประมาณ 3 - 4 รูเล็กๆ นับเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก เจ็บน้อย การผ่าตัดไม่ยุ่งยากซับซ้อนได้ผลหลังผ่าตัดใกล้เคียงกับวิธีการผ่าตัดแบบบายพาส (Bypass) คนไข้สามารถดูแลตัวเองหลังผ่าตัดได้แบบไม่ยุ่งยาก และประสบภาวะขาดสารอาหารหลังการผ่าตัดน้อยกว่าโดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพื่อวัดขนาดกระเพาะอาหารให้ได้ขนาดที่เหมาะสมประโยชน์ของการผ่าตัดรูปแบบนี้ คือ จะช่วยให้กระเพาะอาหารเล็กลง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลงโดยไม่รู้สึกหิว และจะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ช่วยจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารนำไปสู่การลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.ปราโมทย์ พัชรมณีปกรณ์ อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคอ้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำรังไข่ โรคปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ โรคหลอดเลือดดำอุดตัน โรคซึมเศร้า โรคหอบหืด โรคมะเร็ง และที่สำคัญคือ เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งทำให้ลดคุณภาพชีวิตและเพิ่มอัตราการเสียชีวิต ดังนั้น จึงควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นหลัก ส่วนการใช้ยาลดน้ำหนักเป็นตัวช่วยเสริมเท่านั้น ซึ่งถ้าควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเต็มที่แล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะคนไข้เบาหวานที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยพบว่าหลังผ่าตัดจะช่วยทำให้เบาหวานชนิดที่ 2 หายได้ 30 - 63% ลดระดับน้ำตาล สะสมได้ถึง 2% ลดการใช้ยาเบาหวานหรือบางคนสามารถหยุดยาเบาหวานได้ และยังช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต เพิ่มคุณภาพชีวิตและลดอัตราการเสียชีวิตอีกด้วย
“การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด เอกซ์เรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่นๆ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประเมินและรักษาโรคร่วมก่อนการผ่าตัด และหลังผ่าตัดต้องมีการติดตามภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ประเมินน้ำหนักที่ลดลงและปรับลดยาเบาหวาน ยาลดไขมัน และยาลดความดันโลหิต รวมถึงประเมินภาวะโภชนาการ ซึ่งคนไข้ต้องรับประทานโปรตีนอย่างน้อย 60 - 120 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยๆ ดื่มน้ำวันละ1500 - 2000 ซีซี ไม่ควรดื่มน้ำก่อนหรือหลังอาหาร 30 - 45 นาทีหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและแก๊ส และต้องรับประทานวิตามินและเกลือแร่ตลอดชีวิต เช่น แคลเซียม วิตามินรวม วิตามินดี วิตามินบี 12 และอื่นๆ เช่น ธาตุเหล็กถ้าจำเป็น และต้อง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอร่วมด้วย เพื่อให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพดีขึ้นและป้องกันน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระยะยาว” นพ.ปราโมทย์ กล่าว