รพร.บ้านดุง เปิดนวัตกรรมดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ชู “ภาษาถิ่น” บอกสัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง - กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ช่วยผู้ป่วยมา รพ. ไว พร้อมดึง “สมุนไพร” ดูแลผู้ป่วย ทั้งยาพ่นจากดอกปีบช่วยผู้ป่วยโรคหืด - ปอดอุดกั้นเรื้อรัง “แก่นตะไก้” ชะลอการดูดซึมน้ำตาล ช่วยผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลดีขึ้น “ใบไชยา” ปรุงอาหารแทนผงชูรส ช่วยลดโซเดียม ชะลอปัญหาไตเสื่อม
วันนี้ (7 ก.ย.) นพ.ไพโรจน์ พัวพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) บ้านดุง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง มีอัตราชุกผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง แม้จะอยู่ที่ระดับค่ากลางของประเทศ แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้น จึงมีการพัฒนาระบบในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยใช้แนวทางระบบสุขภาพอำเภอ การใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทยในการดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จนสามารถรับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากการประชุม NCD Forum กรมการแพทย์ปี 2557 และได้รับรางวัลคลินิกชะลอไตเสื่อมดีเยี่ยมระดับเขต ปี 2560
น.ส.ปิยพร สิทธิมาตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพร.บ้านดุง กล่าวว่า ระบบการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของ รพร.บ้านดุง จะเน้นในเรื่องของการคัดกรองและค้นหาให้ไว ดูแลเร็ว และดูแลรักษาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่กับโรคอย่างมีความสุข โดยเริ่มจากการค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และส่งต่อมายัง รพร.บ้านดุง เพื่อวินิจฉัยและรักษา มีการใช้แนวทางระบบสุขภาพอำเภอมาใช้ดูแลผู้ป่วย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ รพ.สต. ในการซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว เป็นต้น และมีกลุ่มจิตอาสามาร่วมดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและออกเยี่ยมบ้าน จนผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความเข้มแข็ง ก่อตั้งชมรมผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพื่อประกอบกิจกรรมในการดูแลช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ ยังใช้แนวทางของแพทย์ทางเลือกมาใช้ในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยใช้องค์ความรู้จากสวนป่านาบุฯ จนปัจจุบัน รพร.บ้านดุงสามารถเปิดบริการเป็นศูนย์แพทย์วิถีธรรมได้
น.ส.ปิยพร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วย โดยพบว่า ผู้สูงอายุที่มาพบแพทย์และได้รับยาแล้ว มักไม่ยอมกลับบ้าน โดยระบุว่าต้องรอหลานเลิกเรียน จึงทำให้ทราบข้อมูลว่า ส่วนใหญ่นักเรียนจะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) จึงทำโครงการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มเด็กทูบีนัมเบอร์วัน เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคนี้ได้ และมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจภาวะอาการหรือสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองและโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันด้วย โดยการใช้ภาษาถิ่นที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจง่าย และมีการทำเป็นแผ่นข้อมูลไปติดที่บ้านผู้ป่วย โดยโรคหลอดเลือดสมองใช้นวัตกรรม “ปปร. 60” คือ ปากเบี้ยว ปากบ่ออก และหรอย เพราะอาการแรกๆ ของโรคคือปากเบี้ยว จากนั้นจะพูดไม่ค่อยได้ พูดได้ไม่เป็นคำก็คือ ปากบ่ออก และจะอ่อนเปลี้ยแขนขาอ่อนแรง ก็คือหรอยแรง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็ให้รีบมาพบแพทย์ โดยในเวลา 60 นาที ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะใช้นวัตกรรม “เจ็บเมื่อยใจ” คือ มีอาการเจ็บหน้าอก เมื่อยก็คืออาการเหนื่อน อ่อยเพลีย และใจ คือ อาการใจสั่น หากมีอาการเหล่านี้ก็ให้รีบมาพบแพทย์เช่นกัน ซึ่งก็พบว่าประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยมีความเข้าใจ
นายเหมราช ราชป้องขันธ์ แพทย์แผนไทย รพร.บ้านดุง กล่าวว่า รพร.บ้านดุง มีการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยหลายอย่างในการดูแลผู้ป่วยไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น การใช้ยาพ่นดอกปีบในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยการนำดอกปีบมาต้มด้วยน้ำเปล่า 24 มิลลิลิตร ด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสนาน 30 นาที จนน้ำเหลือเท่ากับระดับของดอกปีบที่ใส่ลงไป กลายเป็นสารสกัดจากน้ำ แล้วนำมาเป็นยาพ่น ซึ่งพบว่าทำให้สมรรถภาพของปอดดีขึ้น หรือการใช้สมุนไพรแก่นตะไก้ หรือกำแพงเจ็ดชั้น ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยนำมาต้มดื่ม ซึ่งจะช่วยชะลอและลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น โดยดื่มวันละ 2 - 3 ถ้วยก่อนอาหาร ยา 1 ชุด ดื่มได้ 3 - 4 วัน โดยแนะนำให้ดื่ม 7 - 10 ชุด ขึ้นไปติดต่อกันทุกวันเมื่อระดับน้ำตาลลดลงจนเป็นปกติแล้วจึงค่อยลดปริมาณลง รวมถึงผักไชยา ซึ่งแนะนำให้ชาวบ้านนำมาต้มสุก แล้วนำไปผสมในอาหารชนิดต่างๆ จะทำให้อาหารมีรสชาติที่กลมกล่อมอร่อยขึ้น สามารถใช้แทนผงชูรสได้ ส่งผลให้คนไข้โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นโรคไต แต่ติดการรับประทานผงชูรส เมื่อใช้ผักไชยาแทนก็จะได้รับปริมาณโซเดียมลดลง ค่าไตก็ดีขึ้น เนื่องจากโรคไตส่วนหนึ่งเกิดจากการกินอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือมีปริมาณโซเดียมสูง อย่างไรก็ตาม ผักไชยาไม่แนะนำให้รับประทานสด เพราะมีสารไซยาไนด์อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ แต่หากนำมาต้มแล้วสารตัวนี้ก็จะสลายไป ซึ่งผักชนิดนี้มีปลูกอยู่ทั่วไปในบ้านของประชาชนพื้นที่แห่งนี้อยู่แล้ว เป็นต้น