xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาเทคนิคตรวจเชื้อ “โรคไอกรน” ใหม่ รู้ผลใน 1 วัน ช่วยรักษาเร็ว ลดแพร่เชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา พัฒนาตรวจเชื้อ “โรคไอกรน” ด้วยเทคนิคมัลติเพล็กซ์ เรียลไทม์ ซีพีอาร์ สามารถรู้ผลได้ 1 วัน มีความแม่นยำสูง ช่วยรักษาผู้ป่วยได้ไว ลดดื้อยา ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส (Bordetella pertussis) ทำให้เกิดการไออย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็ก จะมีความรุนแรงมากหรือหยุดหายใจได้ โดยมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ปอดอักเสบ อาจมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้น ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท อาจมีอาการชักเกร็ง สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 24 ก.ค. 60 พบผู้ป่วย 42 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุด 0.11 ต่อแสนประชากร ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 1 - 3 เดือน

นพ.สุขุม กล่าวว่า ที่ผ่านมา การตรวจยืนยันการติดเชื้อของโรคไอกรน จะใช้วิธีการเพาะเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน ใช้เวลาตรวจประมาณ 3-7 วัน มีความไวต่ำ วิธีการยุ่งยาก และต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อเฉพาะ โดยมีข้อจำกัดเรื่องตัวอย่างต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทันที ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ของโรคไอกรน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ สงขลา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา จึงได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรและห้องปฏิบัติการ เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคไอกรนด้วยเทคนิค Multiplex real-time PCR ซึ่งมีความไวและความแม่นยำสูง สามารถตรวจได้ภายใน 1 วัน

“วิธีดังกล่าวจะตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไอกรน 2 ชนิด คือ B. pertussis และ B.parapertussis ซึ่ง B. pertussis ทำให้เกิดโรคไอกรน (whooping cough) ส่วน B. parapertussis ทำให้เกิดโรคไอกรนอย่างอ่อนๆ โดยใช้ตัวอย่างจากสารคัดหลั่ง Nasopharyngeal swab หรือ Nasopharyngeal aspirate ของผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค ที่เก็บใส่หลอดปราศจากเชื้อ ส่งห้องปฏิบัติการในสภาวะแช่เย็น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวและว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่ ส.ค. 2559 - ก.ค. 2560 ได้ตรวจทั้งสิ้น 71 ตัวอย่าง จากผู้ป่วย 21 ราย พบเชื้อ B.pertussis 7 ราย (ร้อยละ 33.3) และผู้สัมผัส 50 ราย พบเชื้อ B.pertussis 2 ราย (ร้อยละ 4.0) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ

นพ.สุขุม กล่าวว่า จากการนำเทคนิค Multiplex real-time PCR มาใช้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไอกรน ทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถรายงานผลได้ภายใน 1 วัน เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อที่ใช้เวลา 3 - 7 วัน ส่งผลดีต่อผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค สามารถได้รับยารักษาอย่างสมเหตุสมผล ช่วยป้องกันเชื้อดื้อยา ลดความรุนแรงของโรคและการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ทั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับบริบทพื้นที่ และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการเป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวในภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น