สถาบันพยาธิวิทยา เผยวิธีตรวจ “ชิ้นเนื้อ” ด้วยเทคนิค “อิมมูโนฮิสโตเคมี” ผ่านเครื่องย้อมอัตโนมัติ ช่วยวินิจฉัยชนิดมะเร็งได้แม่นยำ ช่วยการรักษารวดเร็วขึ้น เผย ตรวจปีละ 70,000 ราย ระบุ อยู่ในทุกสิทธิการรักษา
วันนี้ (9 ส.ค.) ที่สถาบันพยาธิวิทยา นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ แถลงข่าวการให้บริการตรวจชนิดมะเร็งจากชิ้นเนื้อ โดยเทคโนโลยีย้อมอิมมูโนฮิสโตเคมีด้วยเครื่องย้อมอัตโนมัติ ว่า การเจ็บป่วยของประชาชนในบางราย อาจจำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะ หรือตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์ และวินิจัยโดยพยาธิแพทย์ ซึ่งเนื้องอก หรือมะเร็งหลายชนิดมีความจำเป็นต้องตรวจพิเศษ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยรักษา เรียกว่า “อิมมูโนฮิสโตเคมี (Immunohistochemistry)” ซึ่งสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญในการให้บริการด้านนี้
พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา กล่าวว่า การตรวจชิ้นเนื้อจะมีทั้งการตรวจด้วยตาเปล่า ตรวจทางเซลล์จากเนื้อเยื่อ และตรวจย้อมพิเศษด้วยอิมมูโนฮิสโตเคมี ซึ่งการตรวจย้อมพิเศษดังกล่าวจะใช้กรณีการตรวจชิ้นเนื้อที่มีความยาก หรือต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน โดยปัจจุบันเป็นการตรวจด้วยเครื่องย้อมอัตโนมัติ มีน้ำยาในการตรวจมากกว่า 200 ชนิด สามารถตรวจได้ปีละ 5 - 6 หมื่นราย แต่ช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาให้สามารถรายงานผลได้ภายใน 1 วัน ทำให้มีการบริการตรวจที่รวดเร็วและส่งตรวจมาที่สถาบันมากขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ 7 หมื่นรายต่อปี โดยจะเพิ่มอัตรากำลังตรวจมากขึ้น เพื่อให้ได้รับการตรวจที่มีมาตรฐานเร็วขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งให้ได้รับการตรวจที่ถูกต้องและรักษาที่รวดเร็วขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันการตรวจทางพยาธิวิทยาในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ใน กทม. โดยต่างจังหวัดมีเพียงประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลที่ไม่มีพยาธิแพทย์ก็จะส่งต่อมาตรวจยังสถาบันพยาธิวิทยา
นพ.ทรงคุณ วิญญูวรรธน์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันพยาธิวิทยา กล่าวว่า การตรวจอิมมูโนฮิสโตเคมีเป็นการตรวจพิเศษที่อาศัยหลักการของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยที่เซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งจะมีฉลากประจำเซลล์ที่เรียกว่าแอนติเจน จะถูกนำไปฉีดในหนู เพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกัน จากนั้นจึงนำภูมิคุ้มกันมาทำเป็นน้ำยาสำหรับตรวจเนื้อเยื่อ การจับตัวหันของแอนติเจนบนเซลล์มะเร็งและแอนติบอดีในน้ำยา จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีจนมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยชนิดของมะเร็งและโรคติดเชื้อต่างๆ ได้ สำหรับการตรวจด้วยวิธีนี้มีมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งสมัยก่อนวิธีการตรวจยังไม่ได้มาตรฐาน น้ำยายังไม่มีคุณภาพมากพอ และการย้อมต้องทำด้วยมือ แต่ก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีความทันสมัยในปัจจุบัน และใช้เครื่องในการย้อมอัตโนมัติ ทำให้มีความแม่นยำสูงมาก และสามารถตรวจเฉพาะเจาะจงชนิดของมะเร็งได้ ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น มะเร็งเต้านม มเร็งปอด ลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมไปถึงมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิด นอกจากนี้ ยังใช้ตรวจโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง คือ กลุ่มโรคติดเชื้อละกลุ่มที่มีปัญหาสะสมของอาหารบางอย่าง
“การตรวจชิ้นเนื้อหลายครั้งแพทย์แยกไม่ออกว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน ก็สามารถใช้วิธีการตรวจนี้ได้ ซึ่งพยาธิแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมและไม่สิ้นเปลืองจนเกินไป ซึ่งการตรวจวิธีนี้จะครอบคลุมสิทธิการรักษาทั้ง 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)” นพ.ทรงคุณ กล่าว