xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์เวชศาสตร์แนะทางออก “หมอ” ขัดแย้ง “ผู้ป่วย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ แนะวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วยให้เกิดความเข้าใจต่อระบบรักษา วอนเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่จำกัด และให้โอกาสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้รับการรักษาก่อน

วันนี้ (6 ส.ค.) ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีกระแสโซเชียลที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยมีความไม่เข้าใจกันและขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างการรักษาในห้องฉุกเฉิน จนปรากฏเป็นข่าว ว่า ในฐานะองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อยากให้ข้อเสนอะแนะแนวทางการแก้ปัญหาและสาเหตุดังกล่าวเป็น 2 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องของผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินไปที่ห้องฉุกเฉินลดน้อยลง รวมถึงการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องทำการรักษาทันที หากล่าช้าจะทำให้เสียชีวิตได้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลก่อน ซึ่งทางการแพทย์จะใช้สัญลักษณ์สีแดง ส่วนผู้ป่วยเร่งด่วน ใช้สัญลักษณ์สีเหลือง และผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไปใช้สัญษลักษณ์สีเขียว เป็นกลุ่มที่จะได้รับการดูแลในลำดับตามมา ส่วนผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินจะใช้สัญลักษณ์สีขาว ซึ่งไม่ควรไปตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉิน และผู้ป่วยที่มารับบริการอื่นๆ จะใช้สัญลักษณ์สีดำ คือ ไม่จำเป็นต้องไปที่ห้องฉุกเฉิน นอกจากนี้ ต้องสร้างนโยบายและระบบที่ให้ความสำคัญแก่การแพทย์ฉุกเฉิน เพราะผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มีเวลาและโอกาสที่จะรอและเลือกแพทย์และพยาบาลได้ รวมถึงควรมีสิ่งที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจและสามารถทำงานในด้านนี้ได้อย่างยั่งยืน 2. ระยะยาว ต้องปฏิรูปการศึกษาและระบบราชการให้เกิดเจตคติต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าวว่า ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุ 4 ประการ ได้แก่ 1. ความไม่เพียงพอของทรัพยากรด้านการแพทย์ ต่อปริมาณผู้ป่วยฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้น 2. ปริมาณผู้ป่วยฉุกเฉินที่เพิ่มมากขึ้น เกิดจากความไม่เข้าใจคำว่าผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทาง พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะหมายถึง การเจ็บ/ป่วยที่เกิดขึ้นกะทันหัน เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งถ้าผู้ป่วยและประชาชนเข้าใจความหมายนี้ จะส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยฉุกเฉินลดลง 3. ความไม่เพียงพอต่อทรัพยากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากงานแพทย์ฉุกเฉินเป็นงานที่หนักและเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องมากกว่าแพทย์สาขาอื่นๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ จึงทำให้บุคลากรสนใจงานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินน้อยลงเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว 4. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไปได้ลดลงในระยะหลังๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ และมีแพทย์พาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ประชาชนคาดหวังและเรียกร้องมากขึ้น

ด้าน พ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเห็นว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ดังนั้น ต้องเน้นทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยและญาติ ให้เข้าใจกันว่าหลักการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในสภาพทรัพยากรจำกัดนั้นจะต้องให้โอกาสแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าจะต้องยอมให้ผู้ป่วยที่หนักและเสี่ยงกว่าได้รับการดูแลก่อนและพร้อมที่จะรอ อย่างไรก็ตาม การสร้างบรรยากาศของความเห็นใจซึ่งกันและกันด้วยความเป็นมิตร น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยร่วมกันยึดถือเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น