สพฉ. เปิด 7 ฉากของละคร - หนัง ที่มักถ่ายทอดซีนช่วยเหลือผู้ป่วยแบบผิดหลักทางการแพทย์ ทำประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งการช่วยเหลือคนชัก ปั๊มหัวใจ จมน้ำ งูกัด ให้เลือด ช็อตหัวใจ และใส่ท่อช่วยหายใจ หวั่นคนนำไปปฐมพยาบาลตามแบบผิดๆ
วันนี้ (3 ส.ค.) ว่าที่ ร.ต.การันต์ ศรีวัฒนบูรพา หัวหน้างานกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในการอบรมความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ ว่า ฉากทางการแพทย์ที่มักจะมีการสื่อในลักษณะที่ผิดหลักทางการแพทย์บ่อยครั้ง ได้แก่ 1. คนชัก ที่มักจะเอาช้อนให้คนกัด เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้นตนเอง แต่ในความเป็นจริงคนไข้จะกัดฟันอยู่ เพราะฉะนั้นการเอาช้อนให้คนชักกัดจะทำให้ฟันหักและปากเกิดการบาดเจ็บ ทางที่ถูกต้องควรอยู่เฉยๆ แล้ว โทร. 1669
2. ฉากปั๊มหัวใจ ที่มักจะวางมือในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง โดยตำแหน่งที่ถูกต้องจะต้องวางตรงจุดตัดระหว่างการลากเส้นจากปลายคางไปยังสะดือกับลากเส้นจากหัวนมทั้ง 2 ข้าง และให้วางส้นมือที่ถนัดตรงจุดนั้นก่อนเอามืออีกข้างซ้อนลงไป กดด้วยอัตราความเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที ความลึก 5 เซนติเมตร กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ทำ 5 รอบแล้วตรวจผู้ป่วยอีกครั้งว่ากลับมาหายใจแล้วหรือไม่ หากยังให้ปั๊มต่อจนกว่าคนป่วยจะหายใจหรือมีบุคลากรทางการแพทย์มาถึงจุดเกิดเหตุ
3. ฉากจมน้ำ ที่ส่วนใหญ่มักจะยกคนไข้ขึ้นพาดบ่า หรือจับห้อยหัวลงโดยหวังให้น้ำออกมา แต่ความจริงไม่ช่วยให้น้ำออกและอาจเป็นอันตรายต่อคนไข้ สิ่งที่ถูก คือควรเป่าปากกรณีที่กล้าที่จะเป่าปากได้ หรือปั้มหัวใจเพียงอย่างเดียว
4. ฉากถูกงูกัด ที่มักสื่อออกมาด้วยการใช้ปากดูดพิษงู แต่การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องควรหยุดการเคลื่อนไหวของร่างกาย สังเกตแผลว่ามีเขี้ยวงูพิษหรือไม่ จากนั้นใช้ผ้ายืดพันตั้งแต่บริเวณใต้รอยเขี้ยวจนถึงข้อต่อของอวัยวะส่วนนั้น ป้องกันการเคลื่อนไหว และให้อวัยวะส่วนที่ถูกกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ
5. ฉากช็อตหัวใจ ที่มักจะใช้เครื่องช็อตบนเสื้อผ้าหรือผ้าห่ม แต่หลักที่ถูกต้องช็อตโดยตรงที่ผิวตัวของคนไข้ โดยวางเครื่องตรงตำแหน่งใต้ไหปลาร้าขวาและ ใต้ซี่โครงซ้าย ไม่ใช่วางเครื่องทั้ง 2 ข้างในระดับเดียวกับบริเวณหน้าอก ขณะที่จอมอนิเตอร์คลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่ช็อตหัวใจจะไม่เป็นเส้นตรง หากเป็นเส้นตรงจะไม่ช็อต แต่ฉากส่วนใหญ่จะสื่อว่าช็อตหัวใจเมื่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นเส้นตรง ซึ่งไม่ถูกต้อง
6. ฉากให้เลือด ที่มักจะนำคนให้และคนรับเลือดมานอนเตียงคู่ใกล้กัน ทั้งที่หลักความจริงในการที่จะนำเลือดมาใช้ได้จะต้องเข้ากระบวนการต่างๆมากมายในการตรวจสอบเลือดก่อน
และ 7. ฉากใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะท่อจะยาวในการสอดลงไปในปากคนไข้ ฉะนั้น ก็อาจใช้วิธีการตัดท่อแล้วให้นักแสดงคาบแทน
“หากหนังหรือละครสื่อสิ่งที่ผิดในทางการแพทย์ออกไป หากเป็นกรณีการปฐมพยาบาลแบบผิดๆ คนดูก็จะจำสิ่งนั้นไปปฏิบัติจริงในชีวิต ซึ่งไม่ถูกต้อง หรือหากเป็นฉากที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ แม้คนดูไม่ได้นำไปใช้โดยตรง แต่ก็จะจำมาใช้อ้างอิงในการให้แพทย์ทำการรักษาแบบในละคร เช่น เมื่อไปรักษาแล้วญาติเห็นจอมอนิเตอร์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของคนไข้เป็นเส้นตรงแต่แพทย์ไม่ช็อตหัวใจ ก็จะโวยวายว่าทำไมแพทย์ไม่ช็อตหัวใจเหมือนในละคร ทั้งที่หลักการคือถ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นเส้นตรงจะไม่ช็อตหัวใจ เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ สพฉ. จะต้องประสานขอความร่วมมือและฝึกอบรมให้กับผู้จัด ผู้กำกับ และผู้เขียนบทมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะสื่อสิ่งที่ถูกต้องต่อประชาชน สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัยในชีวิต” ว่าที่ ร.ต.การันต์ กล่าว