xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมเวลาจะไปผ่าตัดจึงต้องไปพบวิสัญญีแพทย์เพื่อประเมินก่อนการผ่าตัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผศ.พญ.มิ่งขวัญ วงษ์ยิ่งสิน
ศูนย์ประเมินและเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา

การผ่าตัดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ย่อมมีความเสี่ยง ความเสี่ยงที่ว่านี้ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการผ่าตัด ความเสี่ยงจากการให้ยาระงับความรู้สึก และภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการผ่าตัด ผู้ป่วยทั่วไปที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว จะมีความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย โดยความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคปอด โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง และอื่น ๆ เหล่านี้ย่อมมีความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่แข็งแรง และบางครั้งจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อท่านได้รับการวางแผนที่จะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์ผ่าตัดจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น เพื่อประเมินความแข็งแรงของร่างกาย รวมทั้งโรคประจำตัว หรือความผิดปกติก่อนผ่าตัดของท่าน ในบางกรณีแพทย์ผ่าตัดอาจส่งท่านมาให้วิสัญญีแพทย์ร่วมประเมิน เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่วงการผ่าตัดให้น้อยที่สุด

ท่านอาจถูกส่งมาพบวิสัญญีแพทย์เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด เมื่อ
แพทย์ผ่าตัดพบความผิดปกติของประวัติ ผลตรวจร่างกาย หรือผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น เช่น ผลเลือด เอกซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
ท่านมีโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือ มีอาการรุนแรง
ท่านจะได้รับการผ่าตัดใหญ่ที่นานมากกว่า 3 ชั่วโมง หรือ เป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ท่านวางแผนมารับการผ่าตัดโดยไม่มีการนอนโรงพยาบาลล่วงหน้า
ท่านมีปัญหา หรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด/การให้ยาระงับความรู้สึกครั้งก่อน ๆ

เมื่อท่านจะเข้ารับการผ่าตัดย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ วิสัญญีแพทย์จะประเมินสภาพร่างกาย และจิตใจของท่าน ประเมินความความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากอายุ เพศ โรคประจำตัว ประวัติยาที่ใช้เพื่อควบคุมโรคประจำตัวและโรคอื่น ๆ ของท่าน ประวัติการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ประวัติการผ่าตัดและการได้ยาระงับความรู้สึกก่อนหน้านี้ รวมทั้งผลตรวจร่างกาย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก่อนการผ่าตัดแก่ท่าน

นอกจากนั้น วิสัญญีแพทย์ยังมีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ท่านก่อนการผ่าตัดเพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันอันตราย ลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิด (Risk optimization) โดยวิสัญญีแพทย์มักให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วางแผนการดูแลเพื่อควบคุมความรุนแรงของโรคประจำตัว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อให้ท่านได้รับรู้ เข้าใจกระบวนการ และลดความกังวลของท่าน ตรวจสอบยาที่ท่านใช้รักษาหรือควบคุมโรคประจำตัว ให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ต้องงดก่อนผ่าตัดและรับประทานต่อเนื่องจนถึงวันผ่าตัด

หากท่านมารับการผ่าตัดโดยไม่มีการนอนโรงพยาบาลล่วงหน้า วิสัญญีแพทย์จะให้คำแนะนำท่านเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนมาโรงพยาบาล เช่น การงดน้ำงดอาหาร 6 - 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ยาที่ต้องงดก่อนผ่าตัดและรับประทานต่อเนื่องจนถึงเช้าวันผ่าตัด การฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ฯลฯ

วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผ่าตัด และพยาบาลทุกท่านมีความมุ่งหวังที่จะดูแลผู้ป่วยให้การผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยดี จึงได้ร่วมใจกันประเมินก่อนผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่วงการผ่าตัดให้น้อยที่สุด จนในปี 2550 ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดตั้งศูนย์ประเมินและเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด หรือหัตถการที่ต้องการระงับความรู้สึก (Siriraj Preanesthesia Assessment Center) หรือที่ชาวศิริราชรู้จักกันในชื่อ SiPAC ปัจจุบันตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4 ห้อง 402 ที่มีหน้าที่ประเมินและเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัดโดยเฉพาะ

ในปีนี้ ภาควิชาวิสัญญีฯจึงจัดงานวิสัญญีภาคประชาชนขึ้น เป็นบูธความรู้ด้านต่าง ๆ จาก 6 หน่วยงาน ที่โถงชั้น 1 อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ วันที่ 10 - 15 ตุลาคม แต่ในวันที่ 14 เต็มวัน และ 15 ครึ่งวันเช้าเท่านั้น ที่จะมีแพทย์และพยาบาลมาตอบคำถามหรือข้อข้องใจของท่าน และเฉพาะวันที่ 14 ที่จะมีกิจกรรมมากมายบนเวทีและร่วมสนุกตามบูธความรู้ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ท่านได้ทราบว่าวิสัญญีคือใคร ทำอะไรกันบ้างเพื่อท่าน ตามธีมของงานนี้คือ “Now You See Me : วิสัญญีคือใคร?” จึงขอเชิญชวนท่านให้มาร่วมงาน และรับความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อท่านหรือคนที่ท่านรักจะต้องมารับการผ่าตัด เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องกลัวการระงับความรู้สึก หรือ “ดมยา” อีกต่อไป เพราะรู้แล้วว่า วิสัญญีเป็นอย่างไร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น