xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ส่งทีม กม.ช่วย “หมอ” ถูกอดีตนายกเล็กแม่ใจเตะก้านคอ ยันกดตรวจช่องท้องวินิจฉัยโรคหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. ส่งทีมกฎหมายช่วยดูแล “หมอธงชัย” ถูกอดีตนายกเล็กแม่ใจ เตะก้านคอระหว่างรักษา เผย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่พบความผิดปกติ จึงต้องตรวจละเอียด ยันกดตรวจช่องท้องเป็นแนวทางวินิจฉัยโรคหัวใจด้วย แต่กลับทำผู้ป่วยไม่พอใจ 

วันนี้ (14 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี นายสุรเกียรติ เพชรประดับ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ใจ จ.พะเยา เตะก้านคอ นพ.ธงชัย เมืองคำ แพทย์ชำนาญการ รพ.แม่ใจ จ.พะเยา ขณะทำการตรวจรักษา จนกลายเป็นคลิปเผยพร่ทางโซเชียลมีเดีย จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก และมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจไปแล้วนั้น ว่า จากการสอบถามไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พะเยา ได้รับรายงานข้อเท็จจริงว่า นายสุรเกียรติ เข้ารับการรักษาอาการแน่นหน้าอกที่ รพ.พะเยา 2 วัน และประมาณ 2 ทุ่มกว่า วันต่อมา ได้เข้ามารับการรักษาที่ รพ.แม่ใจ แต่เนื่องจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วไม่เจอความผิดปกติ จึงต้องมีการตรวจและซักถามอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง โดยได้มีการกดตรวจตรงช่องท้อง ซึ่งเป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรคหัวใจด้วย แต่กลับทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจ เนื่องจากผู้ป่วยบอกว่าเจ็บหน้าอก ทำไมมาตรวจตรงท้อง เลยเตะแพทย์ที่ทำการรักษา ส่วนที่ระบุว่า แพทย์พูดจาเสียงดังทำให้ไม่พอใจ เรื่องนี้ต้องสอบถามกันต่อ แต่ไม่ว่าจะไม่พอใจอย่างไรก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“ขณะนี้ได้มอบหมายให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ย ใครผิดก็ต้องขอโทษ พร้อมให้ทีมของ สธ. และทีมกฎหมายลงไปดูแล นพ.ธงชัย ว่า ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง หากต้องดำเนินคดีก็ต้องช่วยเหลือ ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับ นพ.ธงชัย แล้ว ก็รู้สึกเสียใจ เพราะมีเจตนาที่ดีในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรจะได้ทำการรักษาให้ถูกโรค ถ้ารักษาไม่ได้จะได้ดำเนินการส่งต่อ แต่กลับทำให้คนไข้ไม่พอใจ ซึ่งไม่ว่าจะไม่พอใจอย่างไรก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สังคมไทยใช้ความรุนแรงอย่างนี้ได้อย่างไร แต่คุณก็กำลังใจดี และต้องชื่นชมหมอที่มีจรรยาบรรณในการดูแลคนไข้ วันนี้ก็ยังดูแลคนไข้อยู่ไม่มีปัญหาอะไร” ปลัด สธ. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางแก้ปัญหาการทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน  นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี สังคมเองก็ต้องช่วยกัน ส่วนของ สธ. ก็มีระบบบริหารความเสี่ยงระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ต้องลดความเสี่ยง และดูแลห้องที่มีความเสี่ยงมาก ๆ เช่น ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด หรือโรคบางโรคต้องดูแลให้มีความปลอดภัย เช่น การให้เลือด ไส้ติ่ง ไข้เลือดออก ต้องมีระบบการดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วย พร้อมกับมีระบบดูแลความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ถูกผู้ป่วยลุกมาทำร้าย เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้น ตอนนี้ในห้องฉุกเฉินจะไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา และให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแล อาจจะต้องมีระบบป้องกันความปลอดภัย 2 ชั้น เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลการรักษาความปลอดภัย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น