สธ. เผย โครงการวิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน ได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ทัน ลดอัตรายตายเหลือน้อยกว่า 10% เล็งจัดตั้งคลินิกผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ให้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ครอบคลุมทุกเขตบริการสุขภาพ
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่สถาบันโรคทรวงอก จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการและสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” ว่า โรคหัวใจเป็นหนึ่งในสาขาที่ สธ. ให้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงได้เร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจ จัดทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” มีโรงพยาบาล 359 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไปในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เฉียบพลันรุนแรง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือ มีการรักษา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันอย่างทันท่วงที
ผลการดำเนินงานตั้งแต่ ต.ค. 2558 - ส.ค. 2559 จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 359 แห่ง มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 16,782 ราย เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน 6,553 ราย สามารถเข้าถึงบริการโดยการได้ยาละลายลิ่มเลือด หรือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63 ในปี 2556 เป็น 75 ในปี 2559 อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะการให้ยาละลายลิ่มเลือดโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางขึ้นไป ทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันโรคทรวงอก ได้ดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยจัดอบรมให้ความรู้ จัดทำคู่มือมาตรฐานการรักษา การอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบริหารจัดการข้อมูลระดับประเทศ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน สำหรับการพัฒนาต่อไป มีเป้าหมายเพิ่มการจัดตั้งคลินิกรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว, คลินิกให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพรวมทั้งสนับสนุนให้มีการป้องกันและควบคุม ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน, ไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูง, การบุหรี่ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่