สบส.ส่งหนังสือแจ้ง รพ.รัฐ-เอกชน แจงข้อปฏิบัติตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หวังดำเนินการเป็นแนวเดียวกัน ดูแล 72 ชั่วโมงแรก ห้ามเก็บเงินผู้ป่วย ประสานส่งต่อหลังพ้นวิกฤต ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ
หลังจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซป (UCEP) ประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้ง รพ.รัฐและเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก และแก้ปัญหา รพ.เอกชนเก็บเงินผู้ป่วยในอดีต
วันนี้ (2 เม.ย.) นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เพื่อผลในทางปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ สบส.ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ /รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ขึ้นทะเบียนกับ สบส.จำนวน 347 แห่ง เพื่อการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะได้รับการดูแลช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที และเท่าเทียมกัน มีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีทั้งการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากอุบัติเหตุและจากโรคประจำตัวกำเริบ มีโอกาสรอดชีวิตและได้รับการดูแลจนปลอดภัยใน 72 ชั่วโมงแรก
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส.กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศทั้ง 3 ฉบับ กำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พ้นขีดอันตราย ภายใน 72 ชั่วโมงแรก หากมีความจำเป็นหรือหากผู้ป่วย/ญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้และต้องจัดให้มีการส่งต่อตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของโรงพยาบาลนั้นๆ ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยเด็ดขาด โดยให้โรงพยาบาล ส่งหลักฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนดซึ่งมีทั้งหมด 12 หมวด 2,970 รายการไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งไปยังกองทุนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิของผู้ป่วยภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการจ่ายค่ารักษา ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภายใน 15 วัน
“กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้วให้โรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิ์ของผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่ระบบปกติของการรักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพต่างๆ แต่หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย จะมีความผิดตามมาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ