นายแบบ - นางแบบต่างชาติ ยื่นจดทะเบียน “ทำงานถ่ายแบบ” ในไทยแล้วกว่า 200 คน หลังเดินหน้าโครงการหยุดใช้โมเดลต่างชาติผิดกฎหมาย ย้ำ แม้อยู่ช่วงผ่อนผันโทษ กม. การทำงานของคนต่างด้าว แต่หากไม่ยื่นเรื่องถูกต้อง อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายคนเข้าเมือง
จากกรณีนายแบบหนุ่มชาวโคลอมเบียโพสต์ข้อความโจมตีผ่านเฟซบุ๊กและหมิ่นประมาท นายเอ็ดเวิร์ด กิตติ ผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย และโครงการ “หยุดนางแบบนายแบบและเด็กต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ต่อต้านการค้ามนุษย์” เนื่องจากเสียผลประโยชน์ เพราะเป็นโครงการแก้ปัญหานายแบบ นางแบบต่างชาติ ที่ไม่ขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีไม่ได้ และอาจเข้าข่ายค้ามนุษย์ในกลุ่มที่อายุไม่ถึง 18 ปี จนเป็นคดีความไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2558
วันนี้ (3 ส.ค.) นายเอ็ดเวิร์ด กิตติ ผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมการถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย แถลงข่าวว่า ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล แต่ทางผู้ที่กล่าวหานั้นได้สำนึกผิดว่าทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และขอโทษมาแล้ว ซึ่งตนก็พร้อมที่จะให้อภัย อย่างไรก็ตราม ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร แต่ต้องการให้นายแบบนางแบบต่างชาติดำเนินการให้ถูกกฎหมาย ซึ่งตลาดในประเทศไทยถือว่ามีความน่าสนใจ ค่าแรงงานสูง ค่าครองชีพต่ำ ทำให้มีโมเดลลิงที่ไม่ได้ขออนุญาตเข้ามาทำตรงนี้จำนวนมาก และมีนางแบบ นายแบบเข้ามาทำโดยไม่ได้ขออนุญาต นำเม็ดเงินออกไปจำนวนมากเช่นกัน ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นจำนวนเท่าไร
“ที่ผ่านมา งบโฆษณาในภาพรวมของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี ประมาณร้อยละ 20 จะถูกจ้างนายแบบ นางแบบ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยสัดส่วนนายแบบ นางแบบชาวไทยจะมีมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีโครงการนี้เข้ามา พบว่า ตอนนี้มีนายแบบ นางแบบที่มาจดทะเบียนทำงานมากขึ้น จากหลักสิบเป็น 200 กว่าคนแล้ว แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียนทำงานในไทย ดังนั้นจะมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไป” นายเอ็ดเวิร์ด กล่าว
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมแรงงานทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมถึงกรณีของนายแบบ นางแบบนี้ด้วย สิ่งสำคัญคือ แม้ว่าตอนนี้จะเป็นช่วงชะลอบทลงโทษใน พ.ร.ก. ดังกล่าว แต่ถ้าไม่รีบทำให้ถูกต้องคนทำงานกลุ่มนี้อาจจะไปผิดกฎหมายตัวอื่นอีก เช่น กฎหมายคนเข้าเมือง
ด้าน นายเดียโก เฟอร์นันโด กอนซาเลซ โรจาส นายแบบคู่กรณี กล่าวว่า ตนยอมรับผิดในสิ่งที่ได้กระทำลงไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหานายแบบ นางแบบต่างชาตินั้น มักพบว่าจะใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทำงานถ่ายแบบ โดยไม่มีการไปแจ้งการทำงานที่สำนักงานจัดหางาน ทำให้ไม่มีการเสียภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งการจ้างนายแบบและนางแบบต่างชาติ จะต้องมีการเสียภาษี ณ ที่จ่าย 5% โดยโครงการดังกล่าวเป็นการรณรงค์ให้ให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนอย่างถูกต้อง จัดทำภาษีอย่างถูกต้อง และขอใบอนุญาตทำงานให้คนต่างชาติ และมีการประสานไปยังกลุ่มลูกค้า นิตยสาร อีเวนต์ออแกไนเซอร์ต่างๆ เพื่อรณรงค์ไม่จ้างนายแบบนางแบบที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย