xs
xsm
sm
md
lg

สบส.เร่งสอบ รพ.เอกชนย่านมหาชัย ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยหากไม่จ่ายเงินแสน จนสุดท้ายต้องตัดขา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. เร่งตรวจสอบ รพ.เอกชน ย่านมหาชัย ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยจนต้องตัดขาทิ้ง ทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ พร้อมประสาน สพฉ. อยู่ในเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรี 72 ชม. หรือไม่ หลังร้องเรียนเรียกเก็บเงินแสนก่อนรักษา

จากกรณีโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข่าวชายหนุ่ม อายุ 25 ปี เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มบาดเจ็บที่ขาขวา ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร แต่แพทย์ได้มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาท ก่อนจึงจะผ่าตัดให้ ซึ่งญาติผู้ป่วยแจ้งว่าจะนำเงินมาให้ในวันถัดไป จึงไม่ได้รับการผ่าตัด และส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมแทน โดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามสิทธิแจ้งว่าต้องตัดขาขวาตั้งแต่หัวเข่าลงไป เนื่องจากเส้นเลือดขาดและเซลล์ตาย เพราะผู้ป่วยมาถึงช้าเกินไป

วันนี้ (2 ส.ค.) นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สบส. ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ลงพื้นที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเวชระเบียน และเอกสารทางการแพทย์ว่ามีการปล่อยปละละเลย ไม่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามที่มีการเผยแพร่ข่าวหรือไม่ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. ขณะที่เกิดเหตุแพทย์ผู้ให้บริการมีการดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ หากตรวจพบว่าแพทย์ผู้ให้บริการไม่ได้มีการดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิด ฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของตน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของแพทย์ผู้ให้บริการ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาพิจารณาเอาผิดด้านจริยธรรมต่อไป

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า และ 2. ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวมีการประเมิน และช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ หรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการตามมาตรฐาน ถือว่ามีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย สบส. จะประสานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมตรวจสอบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตสีแดงหรือไม่ ผ่านระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วยของ สพฉ. หากผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรกเด็ดขาด ตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”

“ต้องขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมยึดหลักคุณธรรม และมนุษยธรรม เป็นสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขในการรักษาพยาบาล เพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และหากผู้ใดมีข้อคำถาม หรือข้อร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนสามารถติดต่อได้ที่ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18406” อธิบดี สบส. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น