xs
xsm
sm
md
lg

ILO-IOM ชมไทยจัดการ “ต่างด้าวเถื่อน” ดี เผยเหตุไม่รับแจ้ง “เวียดนาม” ทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้แทน ILO และ IOM ชมไทยหารือประเทศเพื่อนบ้าน แก้ปัญหา “แรงงานต่างด้าวเถื่อน” พัฒนาฝีมือเพื่อยกระดับต่างด้าวและผลักดันเข้าประกันสังคม ก.แรงงาน แจงเปิดรับแจ้งทำงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ไม่รวมเวียดนาม เหตุมี MOU ใน 2 ประเภทกิจการ

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการประชุมด้านแรงงานของกลุ่มประเทศ CLMTV ครั้งที่ 2 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้กล่าวชมเชยประเทศไทย ที่ได้ตกลงทวิภาคี ทั้งกับพม่า กัมพูชา และ ลาว ในการจัดการบริหารแรงงานต่างด้าว นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และชื่นชมแนวทางของไทยในการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมายให้มีฝีมือสูงขึ้น ตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวทางของประกันสังคมไทย ที่จะให้แรงงานต่างด้าว เริ่มมีระบบประกันสังคมที่ต่อเนื่อง เมื่อกลับประเทศต้นทางแล้ว สามารถกลับไปใช้ระบบประกันสังคมของประเทศตนเองได้ รวมทั้งคนไทย เมื่อไปทำงานต่างประเทศ เมื่อเข้าระบบประกันสังคมแล้ว สามารถนับเวลาต่อเนื่อง กลับมาใช้ระบบประกันสังคมในไทยได้เช่นกัน

ด้าน นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยไม่มีเอกสารแสดงตนได้ขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องนั้น อนุญาตเฉพาะสัญชาติกัมพูชา ลาว และ พม่า เท่านั้น ไม่รวมสัญชาติเวียดนาม เพราะเมื่อปี 2558 รัฐบาลไทยได้ผ่อนผันให้แรงงานเวียดนามที่ถือหนังสือเดินทางสามารถทำงานในตำแหน่งรับใช้ในบ้าน งานกรรมกรในกิจการก่อสร้าง ประมงทะเล และ ร้านอาหาร ซึ่งจากการผ่อนผันดังกล่าว ปรากฏว่า มีแรงงานเวียดนามมาขออนุญาตทำงานเพียง 1,500 คนเศษ และเมื่อครบกำหนดอนุญาต 1 ปี ก็มีแรงงานเวียดนามมาต่ออายุใบอนุญาตทำงานเพียง 100 คนเท่านั้น นอกจากนี้ ในการอนุญาตทำงานคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกับแรงงานของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย คือ กัมพูชา ลาว และ พม่า โดยเป็นการอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะงานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้านเท่านั้น ซึ่งเป็นงานที่แรงงานเวียดนามไม่นิยมทำ

นายสุทธิ กล่าวว่า เพื่อให้การจัดส่งแรงงานตาม MOU ระหว่างไทย - เวียดนาม มีความคืบหน้า เนื่องจากประเทศไทยได้ตกลงทำ MOU ว่าด้วยการจ้างแรงงานกับเวียดนามเมื่อปี 2558 โดยให้เวียดนามส่งแรงงานประมงทะเล และแรงงานก่อสร้างเข้ามาทำงาน ปัจจุบันยังไม่มีการจัดส่งแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานแต่อย่างใด และในข้อตกลงตาม MOU ก็ไม่ได้กำหนดให้แรงงานเวียดนามทำงานรับใช้ในบ้านแต่อย่างใด ดังนั้น การอนุญาตทำงานคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในครั้งนี้จึงไม่รวมแรงงานเวียดนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น