นิด้าโพล เผย นายจ้างกว่า 86% เห็นด้วยประเทศไทยควรมี กฎหมายจัดการการทำงานคนต่างด้าว ช่วยจัดระเบียบให้ถูกต้อง มีบทลงโทษรุนแรง 35% เห็นด้วย คำสั่ง ม.44 ชะลอบทลงโทษ 11% มองช่วยประเทศไทยมีภาพลักษณ์ดีขึ้น 62% ยังกังวลอัตราโทษที่สูง
กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10 - 18 ก.ค. 2560 จากนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ พนักงานฝ่ายบุคคล และผู้จัดการ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง พบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.85 มีลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว 2 คน รองลงมาร้อยละ 19.10 ระบุว่า มี 5 คนขึ้นไป สำหรับประเภทงานของแรงงานต่างด้าวที่เป็นลูกจ้างและทำอยู่ พบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.15 ระบุว่า ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานประเภทงานเสิร์ฟอาหาร ขายของ รองลงมา ร้อยละ 18.35 ระบุว่า เป็นงานก่อสร้าง รับเหมา ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.85 ระบุว่า เป็นงานแม่บ้าน ร้อยละ 12.10 ระบุว่า เป็นงานเกษตรกรรม ร้อยละ 6.25 ระบุว่า เป็นงานโรงงาน ร้อยละ 5.80 ระบุว่า เป็นงานเลี้ยงเด็ก
ส่วนประเทศไทยควรมีกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ พบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.65 ระบุว่า เห็นด้วย เมื่อถามว่ากฎหมายดังกล่าวจะป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้หรือไม่ นายจ้าง ร้อยละ 33.05 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 29.45 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จำนวนมากให้ถูกต้อง โดยมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่กระทำผิด แรงงานต่างด้าวทุกคนจะต้องมีเอกสารประจำตัวที่สามารถตรวจสอบที่มาหรือข้อมูลสำคัญได้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกฎหมายยังมีช่องโหว่และอาจไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังในระยะยาว โดยส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าการค้ามนุษย์จะยังคงมีอยู่ เนื่องจากยังมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่ต้องการขึ้นทะเบียน และร้อยละ 0.35 ระบุอื่นๆ ได้แก่ แรงงานต่างด้าวจำเป็นต้องมีการต่ออายุทุกปี ควรเปิดบริการตลอดปี จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงเฉพาะช่วงที่มีปัญหา และควรเริ่มต้นแก้ไขปัญหาแรงงานไทยก่อน
สำหรับการออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้มาตรการการลงโทษ นายจ้าง ร้อยละ 35.25 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว ต้องการเวลาในการดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหาที่ตามมากับผู้ประกอบการ คือ การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในระหว่างนี้รัฐบาลควรกลับไปทบทวนข้อดีข้อเสียของ พ.ร.ก. ให้รอบคอบ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก เมื่อถามถึงผลกระทบในด้านต่างๆ นายจ้างร้อยละ 38.90 ระบุว่า ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน ร้อยละ 15.55 ระบุว่า เกิดการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ช่วยให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในด้านการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ร้อยละ 11.30 ระบุว่า ลดความเสี่ยง ป้องกันการบังคับรีดไถแรงงานต่างด้าว สำหรับสิ่งที่นายจ้างมีความกังวลมากที่สุด กรณีหากมีลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 62.65 กังวลเรื่องอัตราโทษที่สูง เช่น อัตราโทษปรับ และจำคุก