xs
xsm
sm
md
lg

10 วิธีจัดการความเครียดช่วงน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตแนะ 10 วิธีจัดการความเครียดช่วงน้ำท่วม ย้ำ เหล้า - ยา ไม่ใช่ทางออกแก้เครียด ชี้ หากเครียดมากควรพบบุคลากรสุขภาพจิต

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงน้ำท่วมปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ใช้การดื่มเหล้าเพื่อย้อมใจ ลดความเครียด นอนไม่หลับ หรือเศร้ามาก ซึ่งถือเป็นการจัดการความเครียดในเชิงลบ พี่น้องผู้ประสบภัยที่เข้าข่ายใช้การดื่มเหล้า - เบียร์ ของมึนเมา เพื่อช่วยคลายทุกข์คลายวิตกกังวลนั้น ย่อมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตได้ หากเครียดมาก ขอให้พบบุคลากรด้านสุขภาพจิต หรือแพทย์ เพื่อประเมินอาการ และให้การดูแลจิตใจอย่างถูกต้องเหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขอแนะวิธีจัดการความเครียด ดังนี้ 1. หายใจเข้าออกช้าๆ 2 - 3 นาที เพื่อทำให้ออกซิเจนเข้าสู่สมอง แล้วความเครียดจะลดลง 2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น หากต้องติดตามข้อมูลข่าวสารให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน 3. การยืดเหยียดในท่าที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การนอนหลับได้ดีขึ้น 4. ความเครียด ทำให้เรารับฟังกันน้อยลงจึงต้องดูแลตัวเองด้วย 5. แปลงความกังวลเป็นการลงมือทำ รวมพลังครอบครัวและชุมชนรับกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น 6. ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่ทับถม อย่าให้ความหวังดีเป็นความขัดแย้งและทำร้ายกัน 7. ความกังวลใจจะลดลงได้ หากได้ช่วยเหลือผู้อื่น 8. อย่าลืมเวลาเล่น เล่านิทานกับลูก เพราะว่าเด็กก็เครียดเป็น 9. ใส่ใจคนรอบข้าง ทำให้เราทุกข์น้อยลง และ 10. แบ่งเวลาทำสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ สร้างความสงบให้จิตใจ

“สำหรับผู้ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำนั้น ที่พอน้ำท่วมแล้ว ไม่สามารถหาดื่มได้ ทำให้ต้องหยุดดื่ม อาจทำให้เกิดอาการขาดเหล้า หรือ “ภาวะถอน” ได้ ซึ่งจะเริ่มมีอาการประมาณ 1 วัน หลังจากหยุดดื่ม สภาวะจิตใจขณะขาดเหล้าที่สังเกตได้ตั้งแต่แรกเริ่ม คือ กระวนกระวายใจ กังวลใจ เร่าร้อน อยู่ไม่เป็นสุข เดินเพล่นพล่าน เหงื่อไหล หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน สับสน เมื่อหยุดได้วันที่ 2 - 3 จะเริ่มมีอาการทางกายชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจนครบ 7 วัน และอาจเป็นหนักมากอย่างที่เรียกกันว่า “อาการลงแดง” ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น ตัวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน สับสน เหงื่อไหลโชก หรือ หนาวสั่น ขนลุก ม่านตาขยาย มีไข้ขึ้น ประสาทหลอน หูแว่ว หลงผิด เห็นภาพหลอน เพ้อ โวยวาย ถึงขั้นคลุ้มคลั่งทำร้ายตัวเอง และทำร้ายคนอื่นได้ ที่สำคัญคือ อาจมีอาการชักเกร็ง หมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรขอความช่วยเหลือในทันที เช่น ถ้าอยู่ศูนย์พักพิงควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ได้รับรู้เพื่อที่จะได้หาทางช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม การดื่มเหล้าและใช้สารเสพติด ทั้งที่เกิดจากความเครียด หรือจากสาเหตุใดก็ตาม ล้วนนำไปสู่ปัญหาทั้งในช่วงเวลาที่เสพและช่วงเวลาที่ขาดการเสพ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งมึนเมา และสารเสพติดทั้งหลาย จึงเป็นทางป้องกันที่ดีที่สุด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น