xs
xsm
sm
md
lg

กว่า 7 ปีใกล้ความจริง!! โรงงานวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” แห่งแรกของไทย คาดปี 63 ผลิตได้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กว่า 7 ปีสร้างโรงงานผลิตวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” แห่งแรกของไทยใกล้ถึงฝัน อภ. เผย ติดตั้งระบบต่างๆ เสร็จเกือบทั้งหมด เร่งวิจัยวัคซีนทางคลินิกระยะที่ 3 คาดแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 62 สามารถผลิตวัคซีนได้ในปี 63 กำลังผลิตเริ่มต้นปีละ 2 ล้านโดส ขยายได้สูงสุด 10 ล้านโดส

วันนี้ (31 ก.ค.) ที่โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ องค์กรเภสัชกรรม จ.สระบุรี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ ไข้หวัดนก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในปี 2550 ประกอบด้วยงานหลัก 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้ดำเนินการคู่ขนานและสอดคล้องกันไป โดยได้รับอนุมัติงบประมาณ 1,411.7 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานในระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน WHO GMP ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จนถึงวันนี้การดำเนินการก่อสร้างตัวโรงงานและการติดตั้งระบบสนับสนุนต่างๆ เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการสอบคุณภาพ รวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือสำคัญสำคัญในการผลิตติดตั้งเสร็จเกือบทั้งหมดแล้ว สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปนี้ จะเป็นขั้นตอนของการสอบระบบต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบทั้งระบบห้องผลิตและระบบสนับสนุนการผลิต ระบบเครื่องจักรผลิตและขบวนการผลิตให้ทำงานสอดประสานกันเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดมาตรฐาน

นพ.นพพร กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนอยู่ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่คณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร จ.นครปฐม โดยที่ผ่านมา อภ. ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นสำเร็จ 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 และ วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก เป็นเชื้อเป็นชนิดอ่อนฤทธิ์ ใช้พ่นทางจมูก ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์เฟสที่สาม ถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร โดยทั้งส่วนของการก่อสร้าง การพัฒนาวัคซีน การขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และการพัฒนาบุคลากรประจำโรงงานวัคซีนคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562 คาดว่า ปี 2563 จะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ตั้งแต่ต้นน้ำออกมาให้บริการได้

“เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จและได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว โรงงานแห่งนี้จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเริ่มต้นปีละ 2 ล้านโดส และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึงปีละ 10 ล้านโดส สามารถผลิตได้ทั้งแบบเชื้อตาย และเชื้อเป็นกรณีเกิดการระบาดใหญ่ได้ปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของประชากรในประเทศ ถือเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคอาเซียน” นพ.นพพร กล่าว

เมื่อถามว่า โรงงานวัคซีนรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนหรือไม่ นพ.นพพร กล่าวว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนไม่มาก พื้นฐานการเลี้ยงเชื้อ เพาะเชื้อ ก็ไม่แตกต่างกัน อย่างเครื่องจักรใหญ่ๆ ก็คงเปลี่ยนไม่มาก และข่าวดีคือเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโดยการฉีดเชื้อในไข่ เลี้ยงเชื้อให้โตในไข่และเก็บเชื้อ จากนั้นทำให้อ่อนแรงและนำมาผลิตวัคซีนยังทันสมัยไปอีก 10 ปี เพราะเทคโนโลยีต่อมาคือ การเลี้ยงเชื้อในเซลล์ยังพัฒนาไปไม่ถึง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2550 อภ. ได้รับอนุมัติงบจาก ครม. ประมาณ 1,411.7 ล้านบาท โดยเริ่มทำสัญญาปี 2553 นอกจากนี้ ยังได้รับงบสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกอีก 300 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณไปในเรื่องของการทำโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานเครื่องมือ และโรงงานต้นแบบ พัฒนาบุคลากร แต่เมื่อรวมกับค่าเสียโอกาสจากความล่าช้าในการก่อสร้าง ทั้งจากปัญหาฐานราก น้ำท่วม หรือการปรับเปลี่ยนแบบให้รองรับการผลิตได้ทั้งแบบเชื้อเป็นและเชื้อตาย ทำให้หยุดชะงักไป 2 ปี ซึ่งเดิมโรงงานควรก่อสร้างเสร็จในปี 2555 ก็อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ถือว่าใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนานกว่า 7 ปี ล่าช้าประมาณ 5 ปี












กำลังโหลดความคิดเห็น